ณรงค์ ใจหาญ
เนื่องจากสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรไทยระหว่างปี พ.ศ. 2553-2583 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุจากร้อยละ 14.7 ในปี พ.ศ. 2556 เป็นร้อยละ 32.1 ในปี พ.ศ. 2583 ซึ่งมีผลกระทบต่ออุปสงค์สินค้าและความต้องการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ตามมาก็คือ คนไทยมีผู้สูงอายุมากขึ้น และผู้สูงอายุเหล่านี้มีศักยภาพในการที่จะทำงาน แต่งานราชการหรือเอกชนโดยทั่วไปจะเกษียณที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ จึงทำให้เกิดปัญหาว่า ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีที่ยังมีศักยภาพในการทำงาน รัฐควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ทำงานหรือทำกิจกรรมที่ตรงกับศักยภาพของท่านเหล่านั้น ในขณะเดียวกัน ร่างกายผู้สูงอายุแม้จะไม่เจ็บป่วย แต่ความเสื่อมของสภาพร่างกาย ก็มีความจำเป็นต้องได้รับการจัดระบบของที่พักอาศัยให้มีความปลอดภัยกับสภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งควรมีมาตรการในการควบคุม กำกับดูแล
ประเด็นแรก การจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นที่เห็นได้ว่า เหตุผลของการกำหนดว่าเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี เพราะเห็นว่าอายุโดยเฉลี้ยของคนไทย สมัยก่อนอยู่ที่ประมาณ 61-65 ปี จึงเป็นเกณฑ์ที่จะกำหนดว่าควรเกษียณที่อายุเท่าไหร่ ดังนั้นในบางประเทศ เช่น ยุโรป เกษียณที่อายุ 65-70 ปี เพราะอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 ปี ในปัจจุบันการแพทย์ และสาธารณสุข บริการสาธารณะของไทยดีขึ้น โภชนาการดีขึ้นทำให้อายุเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น การขยายอายุเกษียณราชการ จาก 60 เป็น 65 ปี จึงเป็นประเด็นที่เคยมีการพูดคุยแต่ยังไม่ยุติว่าควรเป็นอย่างไร แต่มีบางอาชีพเช่นผู้พิพากษา และพนักงานอัยการได้ขยายไปถึงเจ็ดสิบปี ภายใต้เงื่อนไขว่า สุขภาพดีที่จะทำงานได้ต่อไป ในขณะที่สายวิชาการเช่นอาจารย์ ก็ได้ขยายเป็น 65 ปี ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน
ทางแก้ไขในเรื่องนี้ หากดูตัวอย่างในหลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น กฎหมายกำหนดให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุไม่แต่เฉพาะในภาคราชการเท่านั้น เพราะแรงงงานของผู้สูงอายุจะอยู่ที่ภาคเอกชน และงานบริการต่างๆ ด้วย แต่รัฐจะไปรณรงค์เพื่อให้เอกชนจ้างผู้สูงอายุหลังอายุ 60 ปี และด้วยเงินเดือนสูงเท่ากับเงินที่ได้ขณะอายุ 60 ปีก็น่าที่จะมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการขององค์กรเอกชนเหล่านั้นโดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ สำหรับในภาครัฐเองการจ้างผู้ที่อายุเกินหกสิบปี ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า หากจ้างต่อไปในตำแหน่งเดิม จะมีผลกระทบต่อการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งของผู้ที่อยู่ในลำดับต่อจากผู้สูงอายุนั้นหรือไม่ และจะส่งผลถึงอัตราว่างที่จะเปิดรับใหม่ สำหรับผู้ที่จบการศึกษาใหม่ๆ ด้วย
ทางออกในเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นนโยบายท้าทายของรัฐบาลไทยที่จะพิจารณาว่า ควรมีการจ้างงานผู้สูงอายุหลังหกสิบปีอย่างไร ซึ่งมีประเด็นที่น่าคิดว่า ในภาครัฐและภาคเอกชนควรมีแนวทางปฏิบัติที่คล้ายกัน และต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ผู้สูงอายุนั้นมีศักยภาพในการทำงานในหน้าที่นั้นต่อไปหรือต้องเปิดให้ผู้สูงอายุได้ใช้ศักยภาพในการทำงานในลักษณะนั้นได้โดยไม่มีผลกระทบต่อสภาพร่างกาย จิตใจ ของผู้สูงอายุนั้น เช่น เป็นงานที่ไม่ได้ใช้แรงงานหนัก แต่อาจเป็นการให้บริการเป็นหลัก เช่น อยู่ฝ่ายต้อนรับ หรือให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ติดต่อ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ผู้สูงอายุจึงไม่จำเป็นต้องทำงานในตำแหน่งเดิม แต่มีโอกาสได้ออกจากบ้านมาทำงานในสิ่งที่ตนเองชอบ จะได้ไม่เหงา หรือจิตใจห่อเหี่ยวเมื่ออยู่ในบ้านแต่ผู้เดียว
มาตรการที่จะวัดว่าผู้สูงอายุคนใดที่เหมาะสมในการทำงานต่อไป และควรหยุดเมื่อไรนั้น จึงไม่ได้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าอายุเท่าไร แต่ต้องมีการตรวจสภาพร่างกาย และจิตใจ ตลอดจนสอบถามความสมัครใจของผู้สูงอายุคนนั้นว่า ต้องการทำงานประเภทใดด้วย มาตรการเหล่านี้เองจึงมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายกำหนดในเรื่องของการจ้างงานของผู้สูงอายุขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และกำหนดแนวทางในการประเมินสมรรถภาพของผู้สูงอายุ ตลอดจนพิจารณาถึงสภาพการทำงานว่าควรให้ทำงานในลักษณะใดจึงจะเหมาะสม อีกทั้งต้องอาศัยความยินยอมของผู้สูงอายุด้วย นอกจากนี้ คงต้องมีหลักการที่จะคุ้มครองการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล รวมถึงการที่ต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ในสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในสถานที่ทำงานด้วย อิกทั้งการที่นายจ้างจะต้องจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นภาระที่นายจ้างต้องร่วมจ่ายหากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมพิจารณาและนำมากำหนดไว้ในกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้จ้างงานผู้สูงอายุต่อไป
ประเด็นที่สอง ที่พูดกันมานาน และในบางครอบครัวก็ดำเนินการแล้วคือ การปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ได้มีอายุมากขึ้นโดยเฉพาะหลังเจ็ดสิบปีขึ้นไป การจัดห้องพักชั้นล่าง การมีห้องน้ำที่มีสุขภัณฑ์เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ในสิทธิของผู้สูงอายุ ซึ่งเน้นการที่ผู้สูงอายุจะไปใช้บริการสาธารณะเช่น ไปโรงพยาบาล นั่งรถเมล์ เข้าชมสถานที่สำคัญ หรือเดินทางไปไหนมาไหน จะได้ลดค่าโดยสาร แต่การให้บริการสร้างที่อยู่อาศัย แก่ประชาชน เช่น บริษัทรับก่อสร้างหรือบริษัทที่สร้างบ้านและขาย ก็มีความจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ที่ถูกกำกับดูแล เพื่อทำให้การสร้างบ้านหรือที่พักอาศัย ได้สอดคล้องกับการพักอาศัยของ ผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณาในเรื่องการจัดการธุรกิจบ้านจัดสรร หรือการจัดสร้างที่อยู่อาศัย กฎหมายจะเน้นการสร้างที่มั่นคง แข็งแรง ถูกสุขลักษณะ และมีระบบสาธารณูปโภค ที่ดี อนามัยที่ดี แต่หากพิจารณาในด้านความปลอดภัยของผู้สูงอายุ ลักษณะที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุที่จะอยู่อาศัย สภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย ยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนวางไว้ จึงเป็นเหตุให้บ้านพักโดยทั่วไป ไม่สนองตอบความจำเป็น ความปลอดภัยของผู้สูงอายุ และนำไปสู่การที่แต่ละครอบครัวต้องขนขวายหาทางออกในเรื่องนี้ด้วยเงินของตนเอง หากไม่มีก็จะเกิดปัญหา ด้วยเหตุนี้เองจึงควรมีกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการสร้างที่อยู่อาศัยประเภทบ้านพักผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยในอนาคตต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง