ทีมข่าวคิดลึก
วาระสำคัญที่จะเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปนับจากนี้ โดยวันนี้ 13 ม.ค.ที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการพิจารณาวาระแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่..(พ.ศ.) ซึ่งถือเป็นเรื่องด่วนโดยจะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด
และเมื่อผ่านกระบวนการในส่วนของ สนช. วันนี้ไปเรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไปคือ การนำทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ภายใน 15 วันนับจากวันที่สนช.เห็นชอบ และเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว นายกรัฐมนตรีจะขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืน มาดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะเป็นการแก้ไขในส่วนของหมวดพระมหากษัตริย์และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่รับพระราชทานคืน
จากนั้นจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือหากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วไม่พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป
กระบวนการขั้นตอนที่มีวาระเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ จะเดินหน้าไปพร้อมกับการที่ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องเร่งสะสางปัญหาสารพัดสารพันที่เกิดขึ้นรอบด้าน
ในระหว่างทางที่ยังอยู่ใน "อำนาจ" แน่นอนว่าอีกด้านหนึ่ง งานในมือในฐานะฝ่ายบริหารในห้วงจังหวะเวลาที่แม้การเลือกตั้งจะขยับออกไปก็ตาม แต่ทว่า วันเวลาที่ คสช. เหลืออยู่กับปัญหาที่มากมายทับถม ทั้งปัญหาเก่ากับปัญหาใหม่ จึงกลายเป็น "โจทย์ข้อยาก" สำหรับรัฐบาลและ คสช.ไม่น้อย
การผลักดันเรื่องของการปฏิรูปในด้านต่างๆ ควบคู่ไปกับการปลุกกระแสที่ว่าด้วย "การปรองดอง" ที่กำลังกลายเป็นวาระร้อนๆ ที่ทำให้ คสช. ถูกฝ่ายการเมืองหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามถึงความจริงใจ และความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น เป็น "รูปธรรม" ได้จริงหรือไม่?
สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้แม้ความขัดแย้งทางการเมืองจะไม่ถึงขั้นออกมาเปิดหน้า ประท้วงขับไล่อีกฝ่ายหนึ่งกันบนท้องถนนเหมือนที่ผ่านมาก็ตาม แต่ใช่ว่าความขัดแย้งที่ว่านั้นจะสลายหายไป จนสามารถผลักดันให้ "การปรองดอง" เกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง!
อาการนิ่งเงียบ จากฝ่ายที่ถูก"ยึดอำนาจ" อย่างขั้วอำนาจเก่าของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯย่อมไม่ใช่การประกาศความพ่ายแพ้หรือ "ยอมยกธงขาว" อย่างแน่นอน แต่ในทางตรงข้าม นี่อาจเป็นการ"หยุดเพื่อรอ"ว่า "โอกาส"จะเปิดให้ขั้วอำนาจเก่า สบช่อง"ถล่ม" คสช.ได้อย่างไรมากกว่าวันนี้บรรดานักการเมือง แทบทุกพรรค ทุกค่าย ทุกเสื้อสี แท้จริงแล้วอาจไม่ได้ฝากความหวังฝาก "ชะตากรรม" ทางการเมืองของพวกเขาเอาไว้ที่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว เพราะอะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และหลายสิ่งหลายอย่าง ก็เสมือนยืนอยู่บนความไม่แน่นอน
แต่ถึงกระนั้น อย่าได้แปลกใจ ที่จะพบว่ายังมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่ยังคงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ตามโรดแมปเพื่อสร้างแรงกดดันไปยัง คสช.ไม่ว่าจะมีความหวังมากน้อย หรือไม่ อย่างไร แต่สิ่งสำคัญ คือ การรักษาที่อยู่ ที่ยืนของนักการเมืองในห้วงเวลาที่ถูกจำกัด และตีกรอบเช่นนี้ ยังถือเป็นความจำเป็น เป็นบทบาทที่ต้องดำเนินเช่นกัน !