ทวี สุรฤทธิกุล
คนรุ่นใหม่กำลังคิด “ข้ามหัว” คนรุ่นเก่า
“ประชาธิปไตยใหม่” คือแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่คิดจะ “ก้าวข้าม” คนรุ่นเก่า ภายใต้วาทกรรม “ไม่เอาของเก่า” ที่หมายถึงหลายๆ สถาบันที่คนรุ่นใหม่เห็นว่า “เก่าเกินไป” สำหรับ “สังคมใหม่” ของพวกเขา ที่คิดอยากจะทำอะไรเอง อยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ที่รวมถึงการสร้าง “การเมืองใหม่” ภายใต้แนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยใหม่” ดังกล่าวนั้น
เมื่อกรุงเทพฯมีอายุ 103 ปี ใน พ.ศ. 2428 มีเจ้านายกลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า “กลุ่มก้าวหน้า” ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรง “ปรับปรุง” การปกครองบ้านเมือง “ให้เป็นดังประเทศอารยะ” โดยมีข้อเสนอแนะที่ “กล้าหาญที่สุด” ก็คือ การเสนอให้ “จำกัดพระราชอำนาจ” โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อย่างที่เรียกว่า Constitutional Monarchy ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่าทรงเห็นด้วย แต่คงยังทำไม่ได้เนื่องจากคนไทยยังไม่พร้อม ทั้งนี้ได้ทรงมีพระราชดำริและทรงปรับปรุงบ้านเมืองในหลายๆ เรื่อง อันแสดงถึงความตั้งพระทัยจริงที่จะทำบ้านเมืองให้เป็น “อารยะ” แม้ที่สุดก่อนที่จะสวรรคต พระองค์ยังได้ประกาศแก่พระบรมวงศานุวงศ์และผู้เข้าเฝ้าฯว่า “เราจะให้ลูกวชิราวุธ(รัชกาลที่ 6)ให้รัฐธรรมนูญกับคนไทย”
เมื่อรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชได้หนึ่งปี ใน พ.ศ. 2454 คณะนายทหารที่เรียกตัวเองว่า “ยังเติร์ก” เพราะส่วนใหญ่เป็น “ทหารหนุ่ม” คือเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกมาเมื่อปี 2452 – 2454 นั้นเป็นส่วนใหญ่ ได้คบคิดกันที่จะลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 6 พร้อมกับเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ แต่ความเกิดแตกเสียก่อนเพราะเรื่องได้ล่วงรู้ไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสียก่อน แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณทรงลดโทษให้ผู้ที่ถูกประหารชีวิต 3 คนให้เหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต ที่ถูกตัดสินว่าให้จำคุกตลอดชีวิต 20 คนก็ลดโทษให้เหลือเพียง 20 ปี นอกนั้นอีก 68 คนที่มีโทษต่ำกว่า 20 ปีลงไปก็ให้ลดโทษเหลือแค่รอลงอาญาและให้รับราชการได้ต่อไป ต่อมาในคราวพระราชพิธีฉัตรมงคลที่รัชกาลที่ 6 ทรงครองราชมาได้ 15 ปี ใน พ.ศ. 2467 ก็ทรงพระราชทานอภัยโทษให้ทุกคนพ้นมลทิน ซึ่งสังคมไทยก็คาดการณ์ว่าพระองค์กำลังมีพระราโชบายที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่ในปลายปี 2468 ก็เสด็จสวรรคต ในขณะที่ “พระราชกรณียกิจ” ยังไม่แล้วเสร็จ
เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงขึ้นครองราชต่อมา พระองค์ก็ทรงตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ดังจะเห็นได้จากการที่ได้ให้ที่ปรึกษากฎหมายชาวอเมริกัน คือนายฟรานซิส บี. แซร์ และพระยาศรีวิศาลวาจา ไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาคนละฉบับเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัย และจะให้มีรัฐธรรมนูญใช้เพื่อเฉลิมฉลองวาระ 150 ปีกรุงเทพฯ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 ซึ่งได้เริ่มร่างในตอนต้นปีนั้น แต่ยังไม่เป็นที่พอพระทัยเพราะทั้งสองฉบับยังให้พระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์มากเกินไป จนกระทั่งคณะราษฎรได้เข้ายึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน อันเป็นที่น่าเสียดายว่าประเทศไทยได้เสียโอกาสที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะภายใต้การปกครองของคณะราษฎรเองก็ไม่ด้คิดที่จะสร้าประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมา เพราะอำนาจทั้งหลายยังคงอยู่ที่คณะราษฎรอย่างเต็มที่ อันนำมาซึ่งการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ในวันที่ 2 มีนาคม 2478 ดังที่ทรงมีพระราชหัตถเลขากล่าวตำหนิคณะราษฎรอันเป็นที่รู้จักกันดีในข้อความที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของ ข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดย สิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร... ...บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เป็นอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป”
อนึ่ง คณะราษฎรนี้ก็คือ “คนรุ่นใหม่” ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการที่ได้ไปศึกษายังต่างประเทศ และได้ไปซึมซับเอาแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้ามา โดยมีความแตกต่างกับคณะเจ้านายที่ถวายคำกราบบังคมทูลใน ร.ศ. 103 ที่ว่าคณะเจ้านายนั้นมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้ายู่หัวค่อนข้างมาก เพราะบางพระองค์ก็เป็นพระราชญาติโดยตรง และการถวายคำกราบบังคมทูลก็เป็นอย่างนอบน้อม ด้วยความจงรักภักดี แต่คณะราษฎรนั้นประกอบด้วยข้าราชการระดับกลางที่ทีความคิดรุนแรง ไม่ต่างอะไรกับคณะกบฏใน ร.ศ. 130 ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความรุนแรง รวมถึงแนวคิดที่จะไม่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจใดๆ แม้ว่าในตอนที่ยึดอำนาจได้แล้วจะพยายามประนีประนอมกับพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่ก็ต้องแก้ไขไปเช่นนั้น เพราะสังคมไทยยังไม่ยอมรับ “สภาวะไร้กษัตริย์” และด้วยความกลัวที่คณะราษฎรมีต่อพระมหากษัตริย์ ที่สุดก็พยายามที่จะสร้างเกราะป้องกันเพื่อคุ้มครองและรักษาอำนาจของพวกตนไว้ไม่ให้เป็นอันตราย จนกระทั่งคณะราษฎรนั้นเองได้กลายเป็น “สิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง” อย่างที่คนในสมัยนั้นเรียกว่า “เจ้าพวกใหม่”
บทความนี้มีความประสงค์จะเล่าถึง “พัฒนาการของคนรุ่นใหม่” ในสัมพันธภาพหรือความเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ที่ยังต้องใช้เนื้อที่อีกสัก 2 ตอนเพื่ออธิบายถึงพัฒนาการดังกล่าว เพื่อมาสรุปในตอนท้ายว่า คนรุ่นใหม่ในทุกวันนี้ดังที่ได้เห็นพลังในการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 กำลังจะทำอะไรกับประเทศไทย
เพราะเห็นว่า “พันธกิจ 2475” ยังไม่สำเร็จ