รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม แต่สถานการณ์ทางการเมืองหลังเลือกตั้งยังคงร้อนแรง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลการเลือกตั้ง ซึ่ง ณ วันนี้ ยังไม่มีการประกาศผลอย่างเป็นทางการว่าผู้สมัครคนใด? ได้เป็น ส.ส. ...พรรคการเมืองได้จำนวน ส.ส.เท่าไร? แล้วพรรคใด? ได้เสียงข้างมาก หรือบทสรุปว่า พรรคใด? จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กันแน่?? นี่คือ “ปริศนาทางการเมือง” ที่ยังไม่มี “คำตอบ” ที่ชัดชัด และอาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ซึ่งหลังสิ้นสุดการเลือกตั้งเพียงไม่กี่ชั่วโมงสังคมไทยก็จะได้เห็นโฉมหน้าของว่าที่ ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ พรรคที่ได้รับเสียงข้างมากที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และว่าที่นายกรัฐมนตรี แล้วคนไทยรู้อะไรแล้วบ้าง เมื่อผ่านไป 1 เดือนหลังเข้าคูหา โดยจากการรวบรวม วิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์ของผู้เชี่ยวชาญ และสื่อมวลชน พอสรุปสิ่งที่ได้ “รู้” อาทิ โฉมหน้าว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขต ขอย้ำว่าเป็นแค่ว่าที่ เพราะผลที่ประกาศออกไปยังเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากมี “ผู้แพ้” ร้องเรียน “ผู้ชนะ” กันแบบอุตลุด ดังนั้นอาจต้องพูดตรงๆ ว่า “ชนะที่ได้ อาจจะเป็นชัยชนะแค่ชั่วคราว” ก็เป็นได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ : กรณีซึ่งยากที่จะมีข้อยุติ แม้ กกต. ยอมเปิด “คะแนนดิบ” ออกมาครบทั้ง 350 เขต แต่กลับไม่เผยวิธีคิดคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) รวม 150 คน จนทำให้ ณ วันนี้ ยังไม่สามารถสรุไปได้ว่า แต่ละพรรรคการเมืองมี ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนเท่าไร? กันแน่..!! หรือแม้แต่ การคืนชีพ (อีกครั้ง) ของ “รัฐบาลเงา” และข่าวปล่อย “รัฐบาลแห่งชาติ” จากการที่ “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคพลังประชารัฐ” มีคะแนนนิยมที่สูสีกันมาก ทำให้การจัดตั้งรัฐบาล กลายเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และมีแนวโน้มเกิด “เงื่อนตายทางการเมือง” เพราะตั้งรัฐบาลไม่ได้ จึงทำให้มี “การโยนหินถามทาง” เกิดกระแสข่าวเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” แต่เมื่อพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะความแตกต่างกันระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง ก็อาจทำให้ “รัฐบาลแห่งชาติ” กลายเป็นทางออกที่ถูกปิด ทั้งหมดนี้ คือ บางส่วนของสิ่งที่ “คนไทย” ได้รู้หลังการเลือกตั้ง แต่สิ่งเหล่านี้ตรงกับสิ่งที่อยากรู้ ความคิดเห็น หรือความต้องการของประชาชนหรือไม่? การสำรวจสะท้อนความคิดเห็นจาก “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,107 คน ในประเด็น “การเมืองไทย” หลังเลือกตั้ง ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ สิ่งที่ประชาชนรอคอยหลังจากการเลือกตั้งผ่านมา 1 เดือนเต็ม คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 40.71 คือ รัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ รองลงมา ได้แก่ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 32.03 การประกาศผลรับรองการเลือกตั้ง ร้อยละ 25.96 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 17.18 และมีการบริหารงานตามนโยบายที่ให้ไว้ ร้อยละ 16.62 ประชาชนคิดอย่างไร? “สิ่งที่ดีขึ้นในสถานการณ์ทางการเมือง” ก่อนเลือกตั้ง และ หลังเลือกตั้ง พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 38.44 คือ มีการเลือกตั้ง ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิของตนเอง รองลงมา ได้แก่ จะได้รัฐบาล และนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 24.73 ประชาชน กลุ่มคนรุ่นใหม่ตื่นตัว สนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 19.35 ได้นักการเมืองใหม่ๆ เข้ามาทำงาน ร้อยละ 11.29 และบ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย ร้อยละ 7.80 ประชาชนคิดอย่างไร? ต่อ “สิ่งที่แย่ลงในสถานการณ์ทางการเมือง” ก่อนเลือกตั้ง และ หลังเลือกตั้ง พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 36.47 คือ ปัญหาการเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ ข้อยุติ รองลงมา ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ร้อยละ 24.27 การโจมตีทางการเมือง ความขัดแย้งของนักการเมือง ร้อยละ 21.37 การทุจริตคอรัปชั่น ความไม่โปร่งใส ร้อยละ 14.40 และเสถียรภาพทางการเมือง ทิศทางการเมืองไม่ชัดเจน ร้อยละ 12.54 ความสับสนทางการเมือง “ก่อนเลือกตั้ง” กับ หลังเลือกตั้ง เป็นอย่างไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 47.33 คือ สับสนพอๆ กัน เพราะ กกต. ไม่มีความชัดเจน เกี่ยวข้องกับการตีความตามกฎหมาย มีการปล่อยข่าวลวง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ฯลฯ รองลงมา ได้แก่ “หลังเลือกตั้ง” สับสนมากกว่า ร้อยละ 33.98 เพราะ การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน มีการร้องเรียนให้นับคะแนนใหม่ ยังไม่มีข้อสรุปของการหาสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. ฯลฯ และ “ก่อนเลือกตั้ง” สับสนมากกว่า ร้อยละ 18.69 เพราะมีกระแสข่าวเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเลื่อนวันเลือกตั้ง ยุบพรรคการเมือง ผู้สมัครย้ายพรรค การแข่งขันของพรรคการเมืองในการลงพื้นที่หาเสียง ฯลฯ สิ่งที่ประชาชนอยากบอก กับ “นักการเมืองไทย” คืออะไร? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ตอบมากที่สุด ร้อยละ 50.12 คือ เป็นนักการเมืองที่ดี ทำตามหน้าที่ รักษาสัญญา รองลงมา ได้แก่ ยุติการทะเลาะแบะแว้ง ใส่ร้ายป้ายสี โจมตีกันไปมา ร้อยละ 31.43 ขอให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม ร่วมมือกันพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้า ร้อยละ 21.48 เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ดูแลเอาใจใส่ประชาชน ร้อยละ 17.51 และเคารพกฎหมาย ยึดหลักประชาธิปไตย ร้อยละ 9.35 ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่อยากรู้ ความคิดเห็น หรือความต้องการของประชาชน เกี่ยวกับการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง ซึ่งคงต้องยอมรับว่าสภาพความเป็นจริง และสิ่งที่ประชาชนต้องการมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน...หรือใครจะกล้าปฏิเสธ..!! แล้วความต้องการทางการเมืองไทย หลังการเลือกตั้งของประชาชนจะได้รับการตอบสนองหรือไม่? คงทำได้แค่ “รอ” ...แต่กึคงไม่ต้อง “รอ” นาน เชื่อว่า 9 พ.ค.62 น่าจะมี “คำตอบ” ให้ “คนไทย” รู้สึก “เบาใจ” เรื่องการเมือง...(หรือจะทำให้ “หนักใจ”) ก็คงต้องติดตามตอนต่อไป..!!