สถาพร ศรีสัจจัง
ดูเหมือนปรากฏการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยยิ่งนานก็จะยิ่งสะท้อนเนื้อหาด้านลบของระบบ “ทุนนิยม” มากขึ้นทุกทีๆ นั่นคือ การขยายความเป็น “ตัวกูของกู” (หรือ “พวกกู”) ให้ครอบคลุมจิตใจผู้คนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จึงคล้ายเกิดทัศนคติทำนอง.. ถ้า “พรรคกู” ไม่ได้รับประโยชน์ หรือ มีแนวโน้มจะเสีย “ผลประโยชน์” เรื่องนั้นๆต้องมีปัญหา เรื่องนั้นๆต้องเป็นเรื่องขาดความสุจริต ขาดความถูกต้องชอบธรรม ฯลฯไว้ก่อน
ยิ่งถ้า “เรื่องนั้นๆ” ปรากฏ “ความบกพร่อง” ของผู้ปฏิบัติ (แม้จะไม่เกี่ยวกับคู่กรณีที่เป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง) ไม่ว่าความบกพร่องนั่นจะ “สามารถอธิบายได้” ด้วยเหตุด้วยผลหรือด้วยหลักด้วยฐาน ให้เห็นถึง “เจตนา” ว่าแท้ที่จริงแล้วเรื่องนั้นเป็นเพียง “ความบกพร่อง” ที่เกิดจาก “ความอ่อนหัด” หรือความรีบเร่งเลินเล่อของเจ้าหน้าที่เท่านั้น
ถ้าจะใช้ “ราก” ของสังคมไทยแต่เดิมมาอธิบายถึง “เหตุ” ที่พรรคการเมืองไทย (ก็คือ “คนไทย” กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวจัดตั้งกันขึ้นทางการเมืองเพราะมีแนวคิดคล้ายคลึงกันนั่นแหละ) หรือคนไทยปัจจุบัน “เห็นแก่ตัว” กันมากขึ้น
มากจนแทบจะกล่าวได้ว่า หลังจากไปสมาทานเอาความคิดแบบ “ทุนนิยม” มาเป็นเจ้าเรือน ระบบคุณค่าในจิตใจของพวกเขาก็มีตัว “อัตตา” หรือ “ตัวกูของกู” ตามที่คำสอนในศาสนาพุทธซึ่งเป็น “ราก” ของสังคมไทยมาอย่างยาวนานเพิ่มหนาหนักขึ้นทุกทีๆ
“ตัวกูของกู” ที่ถูกขยายให้เติบใหญ่เริงร้อนขึ้นมากมายเช่นนี้แหละคือที่มาของของความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์ เป็นความขัดแย้งเชิงทำลายล้าง ไม่ก่อเกิดสมานฉันท์ ฯลฯแล้วก็จะนำไปสู่หายนะ ทางสังคมเพราะการใช้ “กำลัง” เข้าห้ำหั่นกันในท้ายที่สุด
ซึ่งนั่นก็คือความล่มสลายของทุกคนในสังคมเดียวกัน!
พระพุทธเจ้าเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นหายนะที่เกิดจาก “การแตกความสามัคคี” !
คอวรรณคดีไทยย่อมทราบกันดีว่าคติธรรมเรื่องนี้ ได้รับการต่อยอดให้เป็นมรดกทางวรรณศิลป์ของชาติชิ้นสำคัญยิ่งโดย “มหากวีสามัญชน” ที่ตายจากโลกไปพร้อมกับความจนยาก คือ กวีท่านที่เขียนงานวรรณกรรมไทยเชิงขนบที่ชื่อนายชิต บุรทัต (พ.ศ.2435 - 2485)บุตรนายชูนางปริกผู้รจนา “สามัคคีเภทคำฉันท์” อันเปี่ยมอลังการ
น่าที่จะเชิญชวนบรรดาคนรุ่นใหม่ที่สมาทานคุณค่าแบบตะวันตกยิ่งชีวิตได้สัมผัสรู้ไว้บ้าง ถึงแม้อาจไม่สามารถสัมผัสสุนทรียะในรสกวีนิพนธ์(เพราะไม่เคยเห็นค่า?)ก็อาจกระตุกใจในคำสอนเรื่องความสำคัญของ “สามัคคีธรรม” ได้บ้าง
ปรากฏการณ์ “ลัทธิถือผลประโยชน์ตนเป็นใหญ่” ที่ว่ากำลังขยายเข้าครอบวิธีคิดจิตใจของคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่อาสาจะเข้าไปเป็น “ผู้ออกแบบบริหารประเทศ” อยู่นั้น เมื่อถึงยามนี้ก็น่าจะไม่มีเรื่องไหน “ฮ็อต” ไปกว่าเรื่องผลการเลือกตั้งจังหวัดนครปฐมเขต 1 นั่นกระมัง!
ความซื่อบื้ออ่อนหัดของ “กระบวนการกกต.” ที่ยิ่งนานยิ่งสะท้อนความอ่อนหัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ก็ดูเอาเถิด แค่เรื่องการนับคะแนนก็ผิดแล้วผิดอีก/บกพร่องแล้วบกพร่องอีก ดูเหมือนจะ 5 หนเข้าไปแล้ว อย่างนี้เหลือเครดิตอะไรให้ใครเชื่อ ความน่าละอายเช่นนี้กลุ่มที่เป็นหัวขบวนน่าจะต้องพิจารณาตัวเองหรือเปล่า?)ประกอบกับความขัดแย้งทางสังคมที่ไม่เคยเจือจาง(ระหว่างฝ่ายที่สมอ้างเอาเองว่าเป็น “ประชาธิปไตยนิยม” กับฝ่ายที่ถูกตีตราว่าเป็น “เผด็จการนิยม” หรือพวก “เผด็จการศักดินานิยม”?)
เรื่องนี้ ฝ่ายที่ถูกตัดสินให้แพ้ไป 4 คะแนน(ในท้ายที่สุด) ถึงขนาดออกแถลงการณรงค์ให้เลือกตั้งใหม่ ทั้งที่พรรคตนเองก็ร่วมอยู่ในขบวนการนับคะแนนใหม่โดยตลอด และจากการแจงเหตุแจงผลโดยกรรมการที่เรียกตัวเองว่ากกต.(ทั้งตัวเล็กตัวใหม่)ก็เห็นอยู่จะๆว่าเหตุเกิดเพียงเพราะความอ่อนหัดเลินเล่อของผู้ปฏิบัติงานบางจุดบางส่วนเท่านั้น
นี่ถ้าเรียนรู้และประพฤติ “พรหมวิหาร 4” กันบ้างของทุกฝักทุกฝ่าย “ตัวตน” หรือ “ผลประโยชน์ตน”
ก็น่าจะหดหายไปได้บ้าง เพราะพรหมวิหารจะก่อแนวคิดแบบ “โยนิโสมนสิการ” ให้เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าความมี “กัลยาณมิตร”นั้นดีงาม สร้างสรรค์ และมีความสำคัญในการอยู่ร่วมสังคมอย่างไร?
ขอโทษที “เทคนิเกิ้ลเทอม” ภาษาบาลีจากพุทธธรรม 4-5 คำที่ยกมานั่น ไม่ได้ยกมาเพราะอวดรู้ ถ้าไม่รู้และอยากรู้ว่า “ราก” ที่เป็นภูมิปัญญาของสังคมตัวเองเหล่านั้นคืออะไรอย่างไรก็โปรดไปค้นไปหาเอาเองเถอะ ใครเขาทำไว้ให้เยอะแยะแล้ว!
แหม...ทีภาษาฝรั่งอังกฤษ(ที่เป็นภาษาตัวแทนของจักรพรรดินิยมตะวันตก)แล้วก็คล่องกันเชียวหละ..หรือคนอื่นเขาจะไม่มี “สิทธิ์” คิดต่างและรู้สึกหมั่นใส้หรือรำคาญได้บ้าง?!!!