เสรี พงศ์พิศ /www.phongphit.com
ไม่ทราบว่า “ไม้ต่อแห่งการแบ่งปัน” เป็นสำนวนของนักเขียนหรือนักปราชญ์คนใด แต่ผมได้ยินวลีที่งดงามและไพเราะนี้จากปากของคุณกองศักดิ์ จันทะศรี คนขาย “ขนมปังเทวดา” ในรายการสามัญชนคนไทย – น้ำใจสามัญชน ของคุณมาโนช พุฒตาล ทางไทยพีบีเอส
เรื่องราวของคุณสมชาย หรือกองศักดิ์ จันทะศรี เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากที่เขาแจกขนมปังเด็ก คนชรา คนพิการ หญิงมีครรภ์ คนยากไร้ คนเจ็บป่วย ให้คนละ 3 ก้อน ซึ่งปกติเขาขายก้อนละ 7 บาท 3 ก้อน 20 บาท
ชีวิตจริงของเขายิ่งกว่าหนังละคร สื่อถามว่า อะไรที่ทำให้เขาทำเช่นนั้น เขาบอกว่า เพราะเขาเคยหิวมาก่อน เคยอดอยาก ขนาดเคยแย่งเป็ดกินลูกตาลแก่ที่คนอื่นเขาทิ้งเพราะแข็งเกินไป
ที่สำคัญ เขาเคยทำมาหากินมาหลายอย่าง มีปัญหาอุปสรรคมากมาย ล้มเหลว จึงไปหาความสงบที่สำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งที่สระบุรี “ทำให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเรา เจออะไรพิจารณาธรรมไปหมด”
“สิ่งที่ผมทำ ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ แต่อยากแบ่งปันความสุข ขนมปังสามสี่ชิ้น ไม่ได้อิ่มอะไรมากมาย แต่เป็นกำลังใจให้กันได้” เขาบอกว่า คนให้กับคนรับยิ้มแย้มแจ่มใส มีความสุข แค่นี้ก็พียงพอแล้ว
นักธุรกิจคงบอกว่า นี่เป็นสุดยอดกลยุทธการตลาดอันหนึ่ง ซึ่งคงไม่มีใครกล้าหาญทำได้ขนาดนี้ อย่างมากก็แจกให้ลองเท่านั้น แต่นี่คุณพี่สมชายแกทำมาน่าจะเกือบ 10 ปีแล้ว ยังทำต่อเนื่องทุกวัน มีคนมารอรับแจกก็มี ที่ไม่กล้าเข้ามาแกก็เรียก ถ้าเห็นหน้าตาซีดเซียวเพราะหิวข้าวหรือเจ็บป่วย หรืออายุมาก
นอกนั้น คุณสมชายยังซื้อกล้วยเป็นหวีหรือเป็นเครือมาแขวนไว้แจกอีกด้วย เป็นภาพที่งดงามของการส่งเสริมสุขภาพ เพราะกล้วยคือสุดยอดผลไม้ที่ให้คุณค่าที่หาได้ง่าย แต่คนมองข้าม เขายังยินดีสอนการทำขนมปังสังขยาให้ฟรีอีกด้วย
คุณสมชายออกทีวี ออกสื่อ มีคนชื่นชมและสมทบทุนสนับสนุนเขา ทั้งโอนเงินให้ ทั้งเอาไปให้ถึงรถเข็น แต่คงไม่ถึงกับให้เขาร่ำรวยอะไร แต่ก็เป็นการร่วมทำบุญ ที่เขาเรียกว่า “ส่งไม้ต่อแห่งการแบ่งปัน”
คุณมาโนชถามว่าทำไมทำมานานแล้วยังทำอยู่ เขาบอกว่า “ผมศรัทธาในสิ่งที่ทำ เชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ อยากให้โลกมีการแบ่งปันกัน”
ทำให้คิดถึงคุณแม่เทเรซา แห่งกัลกัตตา ที่ศาสนจักรคาทอลิกได้ยกย่องประกาศให้เป็นนักบุญเมื่อไม่นานนี้ ท่านตั้งคณะนักบวชหญิง ไปทำงานช่วยเหลือคนจน คนยากไร้ ที่เจ็บไข้ได้ป่วยและตายข้างถนนในเมืองใหญ่ๆ ในอินเดีย
มีคนวิจารณ์ว่า ท่านน่าจะไปเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียแก้ปัญหาระบบโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมมากกว่า จะได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนที่ต้นเหตุ ท่านตอบว่า ที่ท่านทำนั้น “เพียงต้องการให้คนที่กำลลังจะตายรู้ว่า ยังมีคนที่รักเขาอยู่” แล้วท่านก็สอนสมาชิกในคณะของท่านว่า “เราไม่ได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่เราทำเรื่องเล็กๆ ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่ต่างหาก”
นี่คือความงามของ “จิตอาสา” ที่เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ เพราะมาจาก “หัวใจ” ที่ต้องการให้คนอื่นมีความสุข เป็นจิตอาสาที่ออกมาได้ทุกรูปแบบ ไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะสิ่งที่มาจากหัวใจนั้น ยิ่งใหญ่เสมอ อยู่อีกมิติหนึ่งที่วัดด้วยมาตรมนุษย์ธรรมดาไม่ได้ อย่าง “ขนมปังเทวดา” มาจากใจ จึงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน
เช่นเดียวกับจิตอาสาอีก 2 กรณีที่คุณมาโนชนำมาเสนอในรายการ “น้ำใจสามัญชน” คือ “แท็กซี่อุ้มบุญ” สุวรรณฉัตร พรหมชาติ ที่ผู้คนคุ้นเคยพอสมควร เขาให้บริการพระ เณร คนพิการ คนป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ไปหาหมอ ไปโรงพยาบาลฟรี กับนักดนตรีเปิดหมวกที่ไปเล่นดนตรีให้คนพิการฟังทุกอาทิตย์
คำว่า “น้ำใจ” ในภาษาไทย เป็นคำที่สวยงาม สะท้อนจิตใจหรือเบื้องลึกของหัวใจของคนไทยได้เป็นอย่างดี ใช้คำนี้เมื่อไร ไม่ต้องมีคำอธิบายอื่นประกอบก็รู้สึกได้
คงเป็น “น้ำใจ” นี้ที่เชื่อมโยงผู้คนให้อยู่ร่วมกันมานับร้อยนับพันปี เป็นครอบครัว ชุมชน เป็นสังคมใหญ่ เป็นประเทศชาติ ไม่ให้แตกสลาย ล่มสลาย เพราะน้ำใจทำให้คนแบ่งปัน เห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ผูกขาดคนเดียว ไม่เอาเปรียบคนอื่น ไม่เอาเปรียบธรรมชาติ แบ่งปันแม้แต้กับพืช สัตว์ สรรพสิ่ง
สื่อมวลชนมักเสนอแต่เรื่องร้ายๆ นานทีจะเรื่องดีๆ เพียง “กระสายยา” ทั้งๆ ที่เรื่องราวของสามัญชนอย่างที่คุณมาดนชนำเสนอ ซึ่งมีอะไรดีๆ ที่น่าเรียนรู้ มีมากมาย แต่ไม่เป็นข่าว เหมือน “ไม้ล้มต้นเดียว ดังกว่าป่าทั้งป่าเติบโต” ตามภาษิตอินเดีย
หรือไม่ก็มีแต่ข่าวคนดัง ดารา นักร้อง ทั้งๆ ที่ “โลกนี้มิได้อยู่ด้วย มณี เดียวนา ทรายและสิ่งอื่นมี ส่วนสร้าง” อย่างที่ท่านอังคารว่า
ในโลกยุคดิจิทอล สิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ของคนเล็กๆ อาจจะกลายเป็น “ลูกโซ่นิวเคลียร์” ที่ระเบิดไปทั่วโลกด้วยโซเชียลมีเดีย และมีส่วนสำคัญที่ทำให้โลกน่าอยู่และเย็นลง ช่วยกันนำเสนอเรื่องราวดีๆ เพื่อ “ส่งไม้ต่อแห่งการแบ่งปัน” ความสุขนี้เถิด