สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2561 จำนวน 52,000 ครัวเรือนทั่วประเทศพบว่า มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 21,346 บาท ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ มาจากค่าอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบมากที่สุด รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับของใช้ส่วนบุคคล เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ค่าใช้จ่ายในการสื่อสาร, ค่าใช้จ่ายในการศึกษา ค่าเวชภัณฑ์ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายสำหรับการบันเทิง การจัดงานพิธี และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนา ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย การซื้อสลากกินแบ่ง หวยใต้ดิน และดอกเบี้ย ที่น่าสนใจก็คือ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ มีแนวโน้มการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลย้อนหลังในช่วงเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ในปี 2559 นั้นมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ 12.9% และ เพิ่มขึ้นมาเป็น 13% ในปี 2560 ขณะที่ ปี 2561 มีอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 13.4% อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของครัวเรือนกับในปี 2559-2561 พบว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนลดลง คือ ค่าอาหารเครื่องดื่มและยาสูบลดลง แต่กลับมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้านมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะและการเดินทางมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนิ้หากเจาะลึกลงไปในรายพื้นที่ พบว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนสูงสุดคือ 33,408 บาท รองลงมาเป็นครัวเรือนภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 21,168 บาท 20,660 บาท และ 16,343 บาทในขณะที่ภาคเหนือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนต่ำสุด คือ 15,240 บาท เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน ทั่วประเทศ จากปี 2559 ถึง 2561 พบว่า เพิ่มขึ้นจาก 21,144 เป็น 21,346 บาท หรือเพิ่มขึ้น 202 บาทต่อเดือน คิดเป็น 1% โดยปี 2561 ครัวเรือนมีการใช้จ่ายลดลงจากปี 2560 ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายของคนในครัวเรือนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นอาจมีผลกระทบมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาสินค้าทางการเกษตรที่ยังมีความไม่แน่นอน ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายรัฐสวัสดิการมาช่วยพยุงก็ตาม ขณะที่เมื่อพิจารณากรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 จังหวัด มีค่าใช้จ่ายใน ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 มากที่สุดคือเพิ่มขึ้น 0.9% พร้อมกันนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบของครัวเรือนทั่วประเทศ ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์บริโภคที่บ้าน 67.7% สูงกว่าการบริโภคอาหารดังกล่าวนอกบ้านถึง 2.5 เท่า และมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 3.6% และยาสูบอีก 1.7% อย่างไรก็ตาม ภาคครัวเรือนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงเป็นโจทย์สำหรับรัฐบาลใหม่ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องและเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชน