ชะตากรรมของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังเป็นวาระทางการเมืองที่ต้องรอลุ้นกันด้วยใจจดจ่อต่อไป ว่าที่สุดแล้วหัวหน้าพรรคที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ กวาดคะแนนนิยมในสนามเลือกตั้งมาได้กว่า 8 ล้านเสียงนั้นจะสามารถเอาตัวรอดได้จากคดีความหรือไม่
แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองที่เป็น “ตัวแปร” ในการจัดตั้งรัฐบาลของ “พรรคพลังประชารัฐ” เพื่อดำเนินภารกิจหนุน “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้กลับมาเป็นนายกฯรอบสอง
ทว่าจนถึงวันนี้ ยังปรากฎความเคลื่อนไหวที่ไม่นิ่ง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก
หนึ่ง ความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ทำให้ประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคต่ำร้อย
และสอง เมื่อมีวาระที่ประชาธิปัตย์ ต้องเปลี่ยนตัว “หัวหน้าพรรค” จาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคคนเดิม ไปสู่ “คนใหม่”
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในท่ามกลางจังหวะการเมืองที่เข้มข้น อยู่ในระหว่าง “2พรรคใหญ่” ทั้ง “เพื่อไทย” และ “พลังประชารัฐ” เปิดเกมช่วงชิงการตั้งรัฐบาล จึงทำให้ทุกความเคลื่อนไหว ทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์ อาจเชื่อมโยงและมีผลต่อการกำหนดท่าที ของประชาธิปัตย์ต่อการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมรัฐบาล ในช็อตต่อไป
ล่าสุดเวลานี้มีการขยับเปิดตัว “แคนดิเดต” ผู้เสนอตัวลงชิงเก้าอี้ “หัวหน้าพรรค” กันแล้ว
โดยขั้วของ อภิสิทธิ์ ซึ่งมี “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค สนับสนุนนั้น จะส่ง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รักษาการหัวหน้าพรรค ลงชิงตำแหน่งเพื่อรักษาดุลอำนาจของขั้วอภิสิทธิ์ เอาไว้ให้ได้
ขณะเดียวกัน “กรณ์ จาติกวณิช” รองหัวหน้าพรรค เตรียมจับคู่กับ “ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์” อดีตส.ส.ตาก ของพรรค ลงชิงในเก้าอี้ “หัวหน้า-เลขาฯพรรค”
ส่วน ที่กลายเป็นข่าวล่ามาเร็ว คือการประกาศตัวของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ขอเข้ามาร่วมเปลี่ยนแปลงประชาธิปัตย์ครั้งใหญ่
หมายความว่าศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ มีแคนดิเดตที่ต้องจับตา ด้วยกัน3 คนคือ จุรินทร์ ค่ายนายหัวชวน , อภิรักษ์ แกนนำพรรคที่เคยชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาแล้ว และ กรณ์ รองหัวหน้าพรรค
อย่างไรก็ดี ภายใต้วาระการช่วงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รอบนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่อง “ภายในพรรค” อีกต่อไป เพราะมี “แรงกดดัน” มาจาก “นอกพรรค” โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะเป็นผู้ตัดสินใจในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ อีกด้วย
แต่เมื่อขั้วของนายหัวชวน ประกาศชัดไม่เอา บิ๊กตู่ แต่พรรคพลังประชารัฐ ต้องการเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นจึงต้องจับตาว่า ในศึกชิงหัวหน้าพรรครอบนี้ “เงื่อนไข” ที่จะกำหนดความเป็นไปภายในพรรคประชาธิปัตย์ อาจไม่ได้มาจาก “กลุ่มกปปส.” ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ตามที่หลายคนเคยหวาดระแวงกันแต่อย่างใด
เพราะเดิมพันของคสช.ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะอยู่ที่ เก้าอี้ “นายกฯคนที่ 30” เท่านั้นหากแต่ยังหมายรวมไปถึงการได้กลับมาสู่วังวนแห่งอำนาจรัฐ ในฝ่ายบริหารอีกด้วย
เสียงกระซิบจาก “นอกพรรค” เตือนว่า “บิ๊กเนม”ของพลังประชารัฐ อาจจะต้องลงมากำกับ กำหนดทิศทางแผนการเล่นของประชาธิปัตย์ผ่านวาระการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ รอบนี้ ส่วนจะ “เปิดดีล” ผ่านแคนดิเดตคนไหน อย่ากระพริบตาทีเดียว !