รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
สถานการณ์ของประเทศหลังการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แม้จะผ่านไป 1 เดือนเต็ม แต่ทิศทางการเมืองไทย โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน จนทำให้เกิดกระแสข่าวลือต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น กรณีการแย่งกันจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งครองเสียงข้างมาก โดยมีจำนวน ส.ส. ในสภามากที่สุด ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ก็อ้างความชอบธรรม จากคะแนนมหาชน หรือ ป๊อบปูลาร์โหวต ที่เลือกพลังประชารัฐสูงสุดเป็นอันดับ 1 เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างความเป็นที่ 1 ย่อมทำให้การจัดตั้งรัฐบาลกลายเป็นเรื่อง “ไม่ง่าย” ที่จะมีการดำเนินการได้อย่างลงตัว
แต่สิ่งที่ “ประชาชน” อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไม? ต้องแย่งจัดตั้งรัฐบาล คงต้องตอบตรงตรงว่า การเมืองเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน หากฝ่ายใดสามารถชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ก่อน ก็จะได้เป็นผู้บริหารประเทศ ถ้าทำได้ดีประชาชนชื่นชอบในผลงานต่าง ๆ ก็มีโอกาสได้เลือกกลับมาเป็น ส.ส. อีกครั้ง
แล้วเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยและพลังประชารัฐ เป็นสิ่งที่ดำเนินการไม่ง่าย ทำให้ การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยรัฐบาลแห่งชาติ/รัฐบาลสมานฉันท์ หมายถึง รัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยมีสมาชิกเป็นพรรคการเมืองทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคำว่ารัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่นวัตกรรมทางการเมืองไทย แต่เป็นสิ่งที่ปรากฎขึ้นอยู่ในหลายประเทศ โดยในระดับสากลเรียกรัฐบาลแห่งชาติว่า National unity government ซึ่งแปลว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ
นิยามที่เป็นสากลของรัฐบาล (เอกภาพ) แห่งชาติ ค่อนข้างแตกต่างกับไทย เพราะนักการเมืองไทยต้องการให้รัฐบาลประเภทนี้เป็นทางออกของการต่อรองอำนาจ ในประเทศอื่นจะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น อิตาลี ในช่วงปี 2011-2013 พรรคการเมืองหลักสองพรรคคือ พรรค The People of Freedom Party และพรรค Democratic Party ได้ร่วมกับพรรคขนาดเล็กและกลุ่มการเมืองต่างๆ สนับสนุนคณะรัฐมนตรีของนาย Mario Monti และเมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2013 ก็ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมแห่งชาติที่มี นาย Enrico Letta เป็นนายกรัฐมนตรี
ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลแห่งชาติไทย เป็นข้อเสนอที่ถูกพูดถึงในวงการการเมืองไทยเป็นระยะๆ โดยใน 12 ปี (ตั้งแต่ปี 2548- ปี 2560) มีผู้เสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ มาอย่างน้อย 6 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ
สาเหตุที่รัฐบาลแห่งชาติไทยยากจะเกิดขึ้นจริง เนื่องจากรัฐบาลแห่งชาติของไทยไม่ได้เกิดจากการที่ประเทศมีวิกฤติ แต่เกิดจากการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง การเกิดรัฐบาลแห่งชาตินั้น ต้องมาจากการเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่าย นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีคนกลาง ภาพลักษณ์ดี พอมีท่าทีประนีประนอม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในสังคมนั้น ถือเป็นบุคคลที่พูดตรงตรงเลยว่า “หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร”
พูดแบบนี้แล้ว ก็น่าจะทำให้เข้าใจได้ไม่ยากเลยว่า ทำไม? รัฐบาลแห่งชาติไทย จึงเป็นแค่เรื่อง ในทฤษฎีที่ยากจะเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง แต่สำหรับการเมืองไทย 4.0 ซึ่งอะไรอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ก็อาจเป็นยุคที่คนไทยได้เห็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ก็เป็นได้ ...คงต้องติดตามกันตอนต่อไป (ไม่นานเกินรอแน่นอน)..??
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงกรณีทางการเมืองไทยบางส่วนที่เกิดขึ้น ซึ่งสร้างความสับสน วุ่นวายและความรู้สึกเชิงลบให้แก่คนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อย โดยจากการสำรวจความคิดเห็น “ประชาชน” จำนวน 2,054 คน ในประเด็น ประเทศไทยในสายตา “คนไทย” ทำให้พบว่า “สิ่งที่แย่ที่สุด” ของประเทศไทยในสายตา คนไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.22 คือ การเมืองไทย พฤติกรรมของนักการเมือง /ทุจริตคอรัปชั่น
รองลงมา ได้แก่ การไม่มีอิสระ ไม่เป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 25.80 สภาพเศรษฐกิจ ร้อยละ 19.82
การขาดจิตสำนึก ไม่รักไม่สามัคคีกัน แตกแยก ทะเลาะกัน ร้อยละ 19.18 และสภาพอากาศ มลพิษ ขยะ การจราจร ร้อยละ 15.34
พิจารณาจากผลการสำรวจแล้ว คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์การเมือง เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก และสร้างความสับสนให้คนในสังคมอย่างมาก...
“คนไทย” กับ “ความสับสน” ทางการเมือง ณ วันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลย...ไม่ให้ความสำคัญ เพราะ “ความสับสน” อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่อนทำลาย “ประเทศ” มามากต่อมากแล้ว..!!
โดยทั่วไป “ความสับสน” หมายถึง ปะปนกันยุ่งไม่เป็นระเบียบ ซึ่งความสับสนนั้น จะเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เข้าใจ จนทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่สงบสุข คนในสังคมอยู่ด้วยความกังวล และหวาดระแวง ซึ่งอนุภาพสูงสุดของ “ความสับสน” คงหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า จะส่งผลระยะทำให้เกิดการดำเนินการ ที่ไร้ทิศทาง คือ ไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไร? หรือดำเนินการด้วยวิธีการใด? จึงจะยุติความสับสน วุ่นวาย ไม่เป็นระเบียบที่เกิดขึ้นได้
จากคำอธิบาย ก็น่าจะทำให้เห็นพิษสงของ “ความสับสน” ไม่มากก็น้อย แล้วหากมีการนำความสับสนมาประยุกต์ใช้เชิงอวิชาด้านการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมในวงกว้างแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า “ความสับสนทางการเมือง” เกิดผลกระทบต่อประเทศแน่ๆ
แล้วยิ่งเป็นการเมืองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเกิดความสับสนทางสังคมได้ง่าย เพราะเป็นระบบที่ต้องอาศัย การมีส่วนร่วมในทางการเมือง “แบบพหุการเมือง (Plural Politics)” คือ สังคมจะต้องมีความแตกต่างกัน ซึ่งแนวคิดพหุนิยมเชื่อว่า สมาชิกในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีการเจรจาอย่างสันติ ความแตกต่างแนวคิด อาจทำให้ความสับสนวุ่นวาย อันจะนำไปสู่ “สภาวะแห่งสังคมไร้ระเบียบ” และก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนา เช่น การชุมนุมประท้วง ดังนั้น หากมีการใช้วิชามาร เช่น การปล่อยข่าวลือ เพื่อสร้างความสับสน ความหวาดวิตก บทสรุปสุดท้ายอาจทำให้คนในสังคมเกิดความหวาดระแวง ความขัดแย้ง และการความแตกแยกในสังคม
เป้าประสงค์ของอธิบายมาจนยืดยาว ก็เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยอมรับว่า “คนไทย” กับ “ความสับสน” ทางการเมือง ณ วันนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งการใช้ “การประชาสัมพันธ์” เพื่อสื่อสารให้ “ประชาชน” รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเป็นจริง ทำให้เกิดการยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลาย และเคารพกติกา แม้จะ “แก้ความสับสน” ได้ในระดับหนึ่ง
แต่ก็เป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันวัน หากจะมองหา “ยุทธวิธี” ที่ “สยบความสับสน” ที่ “ต้นตอ” อย่างยั่งยืน คงต้องมองไปที่สภาพความเป็นอยู่ “กินดีอยู่ดี” การมีสังคมที่ “อยู่เย็นเป็นสุข” และการเมืองที่ “เป็นปึกแผ่นมั่นคง” ตอบสนองความต้องการของ “ประชาชน” ได้ดีเพียงใด?
เพราะถ้า ประชาชนดำรงชีวิตอย่างสงบสุข “ความสับสน” ก็คงไม่เกิด หรือถ้าเกิดก็เป็น “ความสับสน” ที่แก้ได้ไม่ยาก เพียงแค่พูดคุยให้ข้อมูลก็จะคลี่คลายความสับสนได้ไม่ยากเลย
แต่ถ้าเกิด “ความสับสนที่ลุกลามกลายเป็นความวุ่นวาย หวาดระแวง จนกลายเป็นความแตกแยก” ในสังคมเมื่อไร ก็น่าจะเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ให้ว่าในขณะนั้นได้เกิด “ภาวะวิกฤติในสังคม” อย่างชัดชัด..!!
“คนไทย” กับ “ความสับสน” ทางการเมือง ณ วันนี้ แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาล...เลือกนายกฯ ได้เรียบร้อย แต่ก็ใช่ว่าจะสยบความสับสนทางการเมืองได้ เพราะตราบใดถ้า “คนไทย” ยังอดมื้อกินมื้อ...อยู่อย่างหวาดระแวง...และไม่มีความสุข...
“ความสับสนทางการเมือง” ก็จะเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกปลุกขึ้นมา...และสร้างความสับสนวุ่นวายให้แก่ประเทศไทยอีกนานแสนนาน...!!??