วาระการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ยังมาไม่ถึง เนื่องจากทุกพรรคการเมืองไม่เว้นแม้แต่ประชาธิปัตย์เอง ต้องรอความชัดเจนจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่จะรับรองผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะทั้งตัวเลขที่นั่ง ส.ส.เขต และความชัดเจนจากสูตรคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่กำลังรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ ล้วนแล้วแต่จะนำมาซึ่ง “การตัดสินใจ” ของทุกๆพรรค ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือพรรคแนวร่วมพันธมิตรของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. โดยมี “พลังประชารัฐ” เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหนุน “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. นั่งนายกฯรอบสอง สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ที่ณ เวลานี้กุมตัวเลขส.ส.เขตเอาไว้ที่ 33 ที่นั่ง และจากการคำนวณเอาไว้ก่อรหน้านี้ พรรคมีความเป็นไปได้ที่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 19 ที่นั่ง จะส่งผลให้ประชาธิปัตย์มีทั้งสิ้น 52 เสียง นับว่าเป็นพรรคเป้าหมายที่จะถูกดึงไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ แม้ “ชวน หลีกภัย”ประธาสภาที่ปรึกษาพรรค จะออกมาส่งเสียงปรามสมาชิกพรรคก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มนิวเดม” ที่ขอให้พรรคไปทำหน้าที่ “ฝ่ายค้านอิสระ” หรือ “กลุ่มถาวร เสนเนียม”ที่ต้องการให้พรรคไปเข้าร่วมรัฐบาล โดยชวน ขอให้ทุกฝ่ายในพรรครอความชัดเจนจาก “กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่” เพื่อตัดสินใจว่าจะให้พรรคเดินหน้าไปในทิศทางใด แต่ถึงกระนั้นต้องยอมรับว่าในทุกวาระของการประชุมภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมานั้น มักอบอวลไปด้วยบรรยากาศที่อึดอัด กดดันกันอย่างที่สุด มีหลายต่อหลายครั้งที่สมาชิกพรรคต่างระบายความในใจ โดยเฉพาะประเด็นที่ทำให้พรรคต้องพ่ายแพ้ กลายเป็น “พรรคต่ำร้อย” แพ้การเลือกตั้ง เช่นนี้ อีกทั้งยังต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยมีความพยายามที่จะ “เปลี่ยนหัวหน้าพรรค” กันมาแล้ว แต่สุดท้าย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ก็สามารถพลิกเอาชนะ “อลงกรณ์ พลบุตร” และ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” มาได้ จนกลายเป็นผู้นำทัพลงสนามเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ก่อนที่จะต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งในที่สุด แน่นอนว่าบาดแผลจากความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ นอกจากจะยังไม่ได้รับการเยียวยาแล้ว ยังกลายเป็น “สงครามภาคต่อ” ระหว่างกลุ่มอภิสิทธิ์ ที่มีชวน ให้การสนับสนุน ขณะที่กลุ่มของถาวร เองที่เคยพลาดไปแล้วรอบแรกเมื่อครั้งส่งนพ.วรงค์ ลงสู้กับอภิสิทธิ์ แต่มาครั้งนี้ จะพยายามแก้มือ ด้วยการส่ง “กรณ์ จาติกวณิช” รองหัวหน้าพรรค ลงชิงเก้าอี้กับ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รักษาการหัวหน้าพรรค ในฐานะตัวแทนจากขั้วของชวน การประชุมใหญ่ประจำปี ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 เม.ย.นี้ จะบอกว่าไม่มีไฮไลต์ ก็คงไม่ถูกนัก เพราะอย่างน้อยที่สุดในทุกการประชุมของประชาธิปัตย์ คือการแสดงพลังของแต่ละขั้วภายในพรรคกันเอง เมื่อขั้วของถาวร ได้ “แรงหนุน” จากนอกพรรคคือ “ทีมลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีจุดหมายอยู่ที่การเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ และหนุน บิ๊กตู่เป็นนายกฯรอบสอง โดยครั้งนี้มั่นใจว่า “ความพ่ายแพ้” ของประชาธิปัตย์ที่นำทัพโดยอภิสิทธิ์ จะสามารถ ลดทอนขั้วของอภิสิทธิ์ ซึ่งมีแรงหนุนจากชวน ได้ไม่น้อย ขณะที่ขั้วอภิสิทธิ์ เองเลือกส่งจุรินทร์ ลงมารักษาเก้าอี้หัวหน้าพรรค เพื่อรักษาดุลอำนาจในขั้วของตนเองเอาไว้ ไม่ให้ เสียดุล จากฝ่าย “ลุงกำนัน” ที่ส่งแรงหนุนกลุ่มถาวร มาจากนอกพรรค โดยรอบนี้จะเปิดเกมผ่าน แคนดิเดตมือเศรษฐกิจอย่างกรณ์ มีรายงานว่า ทุกความเคลื่อนไหวภายในพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้ศึกชิงหัวหน้าพรรครอบนี้ ต่างฝ่ายต่างสู้กันสุดตัว โดยเฉพาะแคนดิเดตบางคนอาจจะต้อง “เผื่อใจ”เอาไว้สำหรับการเจอวิบาก ที่หนักหนาสาหัส “แผลเก่า” อาจจะถูกเปิดขึ้นมาจาก “คนประชาธิปัตย์”ด้วยกันเอง เพื่อ “เตะสกัด” ไม่ได้ก้าวไปถึงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ นั่นเอง !