สมบัติ ภู่กาญจน์ ในปาฐกถาเรื่อง 'ประชาธิปไตยกับเสรีภาพ' ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ให้ความรู้แก่ผู้คนไว้ตั้งแต่สมัยที่ไทยยังมีนายกรัฐมนตรีชื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม บริหารประเทศ และสหรัฐอเมริกากำลังต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างสุดเหวี่ยง โดยมีรัฐบาลทหารในประเทศหลายประเทศร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย อาจารย์คึกฤทธิ์ได้พยายามบอกผู้คนให้รู้จัก'ประชาธิปไตย' ในความหมายที่แท้จริงและที่ควรรู้และได้พูดถึง 'หลักเสรีนิยม' ที่มี 'เสรีภาพ' เป็นเป้าหมายใหญ่ไว้ด้วยเหตุด้วยผลพอสมควรแล้วในท้ายของปาฐกถา อาจารย์คึกฤทธิ์ก็ฝากข้อคิดเรื่อง 'การปกครองโดยธรรม' ไว้ด้วยสาระดังต่อไปนี้ "ถ้าเราจะปกครองประเทศกันโดยอาศัยหลักธรรมะนี้ ผมเชื่อว่าความสุขสันติน่าจะเกิดขึ้นได้มากกว่าหลักอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทุกวันนี้ เรานิยมและยอมรับให้มีพรรคการเมืองมาเสริมหลักประชาธิปไตย และอยากให้พรรคการเมืองเหล่านั้นมีคุณภาพ มีสมรรถภาพที่ดี ความมุ่งหวังเหล่านี้จะทำให้ธรรมะนี้ยิ่งจำเป็นมากขึ้นอีก ซึ่งจากประสบการณ์ของผม ผมเห็นว่าการปกครองดังกล่าว ควรคำนึงถึงหลักสี่ประการ ดังต่อไปนี้คือ 1.เมื่อพรรคใดได้เป็นรัฐบาล พรรคนั้นจะต้องคำนึงถึงหลักบริหารประเทศด้วยความยินยอมของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ซึ่งไม่ใช่ด้วยการขู่เข็ญบังคับ หรือการใช้อำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งให้คนส่วนใหญ่ยอมรับในการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด 2.เมือถึงวาระหรือมีเหตุอันชอบธรรมพรรคที่เป็นรัฐบาลจะต้อง 'พร้อม' ที่จะมอบอำนาจในการปกครองให้แก่พรรคอื่น ด้วยความยินยอมของตนเอง 3.การเปลี่ยนมือที่ถืออำนาจ จะต้องเป็นไปอย่างสันติ มีระเบียบ และมีวิธี 4.การเปลี่ยนแปลงตามข้อ 3 ควรเป็นไปอย่างผ่อนปรน มิใช่อย่างกะทันหัน หรือการกระทำชนิดที่เรียกว่า 'พลิกแผ่นดิน' ผมคิดว่าหลักทั้งสี่นี้ จะทำให้การปกครองราบรื่นเป็นไปได้ เพราะผู้ที่มีเสียงข้างมากจะสามารถดำเนินการปกครองได้ก็ต่อเมื่อผู้มีเสียงข้างน้อยยอมรับด้วยหลักใหญ่ประการหนึ่งประการใดและต้องทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อถือว่า ตนได้ทำงานต่างๆ เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ และเห็นพ้องต้องกันว่า สถาบันต่างๆที่มีอยู่ในสังคมนั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และอีกประการหนึ่ง พรรคที่เป็นรัฐบาลย่อมยอมออกจากตำแหน่งและมอบอำนาจให้แก่อีกพรรคหนึ่งแน่ ถ้าพรรคที่เป็นรัฐบาลนั้นเชื่อว่าพรรคที่ขึ้นมาแทนที่จะไม่ใช้อำนาจทำลายตนเมื่อมีอำนาจขึ้นมา สรุปความว่า เจตนาของประชาชน ถ้าอยู่บนพื้นฐานแห่งธรรมะเช่นนี้ เจตนานั้นก็จะเป็นที่ยอมรับและควรแก่การเคารพนับถือของคนโดยทั่วไป ซึ่งเจตนานั้นต้องอยู่บนความยุติธรรม ไม่ใช้แต่พระเดชเพียงอย่างเดียว อีกทั้งคนส่วนน้อย ก็พึงยอมรับในเสียงของคนส่วนใหญ่ที่มีจำนวนมากกว่า และคำนึงถึงว่ามนุษย์จะต้องอยู่ร่วมกันเป็นชาติ มิใช่ต่างคนต่างอยู่ แต่อยู่ร่วมกันเพื่อให้ความดำรงคงอยู่เป็นชาตินั้น เป็นเอกภาพเยี่ยงประเทศที่เจริญแล้วอื่นๆไม่มีอันต้องล่มสลายไป ส่วนมากของผู้ที่มาฟังปาฐกถาในวันนี้เป็นอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นผู้อยู่ในฐานะผู้นำทางความคิด และจะเติบโตเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตยในวันข้างหน้า ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะกระทำตนให้พร้อมไปด้วย'ธรรมะและเสรีภาพ' เพื่อให้เป็นดวงประทีปแห่งความหวังของชาติไทย อันเป็นที่รวมของประชาชนคนไทยสืบต่อไป ผมขอกล่าวคำสุดท้ายก่อนจบปาฐกถานี้ว่าคนที่มีเสรีภาพในตัวนั้น นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีเกียรติอันสูงสุด และผู้ที่มีเสรีภาพอันแท้จริง ย่อมจะรู้สึกอัปยศอดสูและเสียเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ถ้าได้รู้ว่า คนทั้งหลายที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกับตน ไม่มีเสรีภาพเท่าเทียมกับตน แล้วตนเองก็ยังนิ่งเฉยไม่ทำในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะช่วยให้ดีขึ้น" ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จบปาฐกถา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2500 ไว้ด้วยข้อความนี้ หลังจากนั้นไม่กี่เดือนอายุการบริหารงานที่ยาวนานเกือบสิบปีของรัฐบาลจอมพล ป. ก็สิ้นสลายไป ถึงวันนี้ กาลเวลาผ่านมาแล้ว 60 ปีโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทางด้านความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็พัฒนาก้าวไกลขึ้นมาก โดยเฉพาะทางด้านการติดต่อสื่อสาร แต่ทางด้านการเมืองและแนวความคิดของผู้คนบางกลุ่ม ผมเห็นว่ายังไม่มีสัญญาณใดที่จะแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก ในสังคมไทยยุคสองพันห้าร้อยหกสิบปี ใครไม่เชื่อก็ขอให้กลับไปอ่านหลักสี่ข้อข้างต้นนี้อีกครั้ง แล้วคิดตามไปด้วยว่า ถ้าเราคิดทำหรือสามารถทำกันได้อย่างที่ผู้พูดแสดงความคิดเห็น สภาพการเมืองเช่นทุกวันนี้ จะยังมีได้หรือไม่ในสังคมไทย? จากนั้นก็ขอให้อ่านข้อความส่งท้ายอีกครั้งแล้วคิดถามตัวเองอีกประโยคว่า 'เกียรติแห่งความเป็นผู้มีเสรีภาพ' ของเราจะยังคงมีอยู่ในตัวเรา จริงแท้แน่นอนหรือ?