ยิ่งเงียบหาย ไปนานเท่าใด โอกาสที่จะถูกเขย่าด้วย "ข่าวลือ" เพื่อดับกระแส ยิ่งมีสูง ! ล่าสุดหลังจากที่ "พรรคเพื่อไทย" ปล่อยให้ ฝั่งตรงข้ามอย่าง "พลังประชารัฐ" ออกมาเคลื่อนไหวยึดครองพื้นที่อยู่พักใหญ่ "ขุนพล" ของพรรคเพื่อไทย ได้เรียกประชุมใหญ่ประจำปีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันหยุดที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา นัยว่างานนี้จะได้มีการ "จัดทัพ"เพื่อเตรียมรับ "ศึกใหม่" หลังการเลือกตั้ง อีกทั้งยังเป็นการ ดับกระแสที่ถูกปล่อยมาก่อนหน้าวันประชุมว่า จะมีการเปลี่ยน "หัวหน้าพรรค" จาก พล.ต.ท.วิโรจน์ ไปเป็น สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ว่าที่ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย งานนี้ ได้ "มือขวา" ของ "คนที่ต่างประเทศ" อย่าง "ภูมิธรรม เวชยชัย" เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมายืนยันว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมทำหน้าที่ในทุกสถานการณ์ และยังไม่มีความคิดไกลไปถึงขั้นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวหัวหน้าพรรค เพื่อเตรียมรับบท "ผู้นำฝ่ายค้าน" และที่สำคัญ จนถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่ามี "สิทธิอันชอบธรรม" ที่จะจัดตั้งรัฐบาล แต่กระบวนการขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน และ 250 ส.ว.ก็ยังไม่มีความชัดเจน " มั่นใจว่า 7 พรรคการเมือง ที่ร่วมกันลงสัตยาบันในระดับผู้นำพรรคและกรรมการบริหารพรรคยังจับมือกันแข็งแรง หากมีฝ่ายใดฝืนแย่งชิงอำนาจด้วยวิธีการวิธีนอกระบบ ซื้องูเห่า งูเขียว งูจงอาง ก็จะเป็นวิธีการไม่สง่างาม และจะมีผลต่อการตัดสินใจในวันข้างหน้า ซึ่งเป็นความรันทดของระบอบประชาธิปไตยไทย การกระทำเพื่อแย่งชิงอำนาจไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบ" (21 เม.ย.2562) กระแสข่าวที่สะพัดออกมา ในท่วงทำนองที่ชี้นำไปไกลว่า พรรคเพื่อไทย เตรียมจับจอง "เก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน" ย่อมไม่เป็นการดีสำหรับพรรคเพื่อไทย โดยไม่ต้องเดา เพราะนี่จะหมายความว่า พรรคเพื่อไทย "ยอมถอย" ไม่เดินหน้าชิงธง แข่งกันตั้งรัฐบาลกับฟาก "พรรคพลังประชารัฐ" แล้วใช่หรือไม่ !? ท่ามกลางกระแสข่าวที่ไม่เป็นผลบวกต่อพรรคเพื่อไทย จึงทำให้พรรคต้องออกมา "ขยับ" ส่งสัญญาณเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้และปลุกความเชื่อมั่น ทั้งต่อคนในพรรคเพื่อไทย ป้องกันไม่ให้เกิด "งูเห่า" คนแปรพักต์หันไปหนุนพรรคพลังประชารัฐ โหวตให้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้นั่งนายกฯรอบสอง นอกจากนี้ยังต้องไม่ลืมว่า ในภาวะความไม่ชัดเจนเช่นนี้ยิ่งเป็นการเพิ่มความอ่อนไหว ให้แก่ อีก 6 พรรคการเมืองที่ประกาศจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลมาก่อนหน้านี้ ให้มีอันต้องขบคิดอย่างหนัก ว่าที่สุดแล้ว พรรคเพื่อไทยยังจะสามารถทำหน้าที่เป็น "แกนนำ" ในการจัดตั้งรัฐบาลไปต่อไปหรือไม่ สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่นอนจากตัวเลขส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่ยังต้องรอการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ (ศร.) จากข่าวลือ ที่สะพัดมาเป็นระลอกๆ ว่า พรรคอนาคตใหม่ อาจจะเดินมาสุดทางแค่สนามเลือกตั้ง แต่คงเดินไปไม่ถึงสภาผู้แทนราษฎร เมื่อบรรดา "แกนนำ" ของพรรคต่างติดบ่วงคดีความด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคดีเกี่ยวกับตัวบุคคล ไปจนถึงประเด็นที่จะเชื่อมโยงไปยังพรรค จากนี้ไป ความยากลำบากของพรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้ง อาจจะกลายเป็น "เงื่อนไข" ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะใช้กลยุทธ์ชู "137เสียง" ที่ชนะการเลือกตั้งแบบเขต ขึ้นมาเป็น "อาวุธ"เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล "เสียงข้างมาก" พร้อมกันนี้ อาจจะต้องหันไปพึ่งพา กลไก "นอกประเทศ" ด้วยการดึงโลกให้กลับมาล้อมไทย อีกครั้ง !