ทวี สุรฤทธิกุล หลายคนคร่ำครวญถึง “รัฐบาลแห่งชาติ” "รัฐบาลแห่งชาติ” มีความหมายค่อนข้างจะเป็น “อุดมคติ” คล้ายๆ กับ “ความฝันอันสูงสุด” คือเป็นสิ่งที่ดีแต่เป็นไปได้ยาก ในความหมายทางรัฐศาสตร์ “รัฐบาลแห่งชาติ” หมายถึง “รัฐบาลที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้วิกฤติของบ้านเมือง โดยมีผู้นำที่ประชาชนเชื่อถือศรัทธา และทุกฝ่ายร่วมกันบริหาร (เช่น ไม่มีพรรคการเมือง หรือการผูกขาดอำนาจโดยกองทัพ) โดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง เมื่อแก้วิกฤตินั้นได้แล้ว รวมถึงได้วางระบบหรือจัดการโครงสร้างทางการเมืองเสียใหม่เสร็จสิ้น ก็พร้อมที่จะสลายตนเองไป และอำนวยความสะดวกให้ระบบการเมืองใหม่นั้นได้เดินหน้าต่อไป” รัฐบาลแห่งชาติไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย มีเพียงแต่ “คล้ายๆ ว่าจะเกิดขึ้น” นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่คณะราษฎรได้ “ประนีประนอมอำนาจ” โดยเชิญคนกลางคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้มาเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่ก็ประสบความล้มเหลว เพราะพระยามโนฯไม่ยอมอยู่ใต้การกำกับของคณะราษฎร จากนั้นแม้จะเปลี่ยนมาเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ถูกอุปโลกน์ว่าเป็นหัวหน้าของคณะราษฎร แต่ก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกันกับพระยามโนฯ ที่สุดหลวงพิบูลสงครามผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุดในคณะราษฎร(เพราะคุมกองทัพทั้งหมด)ก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง แต่ด้วยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหมู่คณะราษฎรเอง โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมผู้นำฝ่ายพลเรือนและ “มันสมอง” ของคณะราษฎร ที่คอยโอกาสที่จะขึ้นเป็น “เบอร์หนึ่ง” ของประเทศมาตั้งแต่เมื่อตอนที่วางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นแล้ว ก็อาศัยความผิดพลาดของหลวงพิบูลฯในกรณีการนำประเทศไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ขึ้นมามีอำนาจแทน นั่นคือจุดจบของ “รัฐบาลในฝัน” อันเกิดจากการแย่งชิงอำนาจของผู้นำ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง อีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทย “เกือบจะ” มีรัฐบาลแห่งชาติ ก็คือรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังวิกฤติการเมืองไทยในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 โดยมีท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งบางท่านเรียกว่า “นายกฯพระราชทาน” ทั้งยังมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติในรูปแบบที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “ราชประชาสมาศัย” (ราช = พระราชา ประชา = ประชาชน สมาศัย = ร่วมกัน) คือเป็นพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ให้รวบรวมตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่างๆ ทุกสาขาอาชีพ จากทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2,300 คน ตั้งเป็น “สมัชชาแห่งชาติ” แล้วให้มาเลือกกันเองให้เหลือ 299 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นก็ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ซึ่งถือกันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งฉบับหนึ่ง ทั้งยังให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว คือเพียงไม่ถึง 4 เดือนหลังจากที่ได้รัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ตุลาคม 2517 ก็มีการเลือกตั้งในวันที่ 26 มกราคม 2518 หรือเพียงปีเศษหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งของท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ทีนี้ลองมามองวิกฤติการเมืองไทยในขณะนี้ คงจะเรียกว่าเป็น “วิกฤติของชาติ” ไม่ได้ แต่น่าจะเป็น “วิกฤติของพรรคการเมือง” มากกว่า เพราะตราบใดที่พรรคการเมืองยัง “ง่องแง่ง” ไม่มีใครยอมใครที่จะ “ล้างความเห็นแก่ตัว” ยังคง “กัดฟัด” แย่งกันจัดตั้งรัฐบาล ประเทศของเราก็กำลังเดินไปใน “ถนนขาด” หรือ “ทางตัน” ที่จะเป็นจุดจบของการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมา ในขณะเดียวกันเราก็ยังมองไม่เห็นผู้นำคนใดที่น่าเชื่อถือศรัทธา จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในภาวะที่นักการเมืองกำลัง “ตะลุมบอน” กันจนฝุ่นคลุ้งนี้ได้แม้จะมีการชูพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “ล่อเป้า” เอาไว้ แต่การที่พลเอกประยุทธ์ถูกลากไปอยู่ข้างพรรคพลังประชารัฐ ทำให้มีหลายพรรคที่ไม่เอาด้วย เพราะไม่ได้มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ที่สุดแม้จะมีการใช้แรงบีบต่างๆ บีบให้พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งต้องเข้ามาสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ แต่นั่นก็เป็นเพียงรัฐบาลที่เกิดจาก “ภาวะจำยอม” ไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งยิ่งจะสร้างปัญหาต่างๆ ตามมา ทำให้รัฐบาลไร้เสถียรภาพและระบบการเมืองไทยพังทลาย ผู้เขียนเชื่อว่าภาวะการณ์ขณะนี้เป็นภาวะการณ์ที่น่าจะเรียกว่า “ความดื้อแพ่งของผู้มีอำนาจ” คือคิดเพียงแต่จะเอาชนะคะคานกัน โดยที่คนที่มีอำนาจมากที่สุด ไม่ยอมลงจากอำนาจ เพราะคิดว่าตนเองคือคนที่ดีที่สุด รวมทั้งที่มีการสร้าง “มายาคติ” ว่านี่แหละคือ คนๆ เดียวที่จะนำความสงบสุขมาสู่สังคมไทย พร้อมกันนั้นก็สร้างกระแสให้คนไทยเชื่อไปด้วยว่า ถ้าไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนนี้แล้ว ประเทศไทยจะไปไม่รอด ความมั่นคงจะไม่มี เศรษฐกิจจะไม่ดี ไม่มีใครกล้าลงทุน ค้าขายแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ไม่มีใครจะปกป้องสถาบัน ฯลฯ เช่นเดียวกันกับนักการเมือง ก็ไม่มีใครยอมใคร ต่างก็ตั้งป้อมเรียกร้องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ โดยฝ่ายที่มีรัฐาธิปัตย์หนุนอยู่ก็ใช้กลอุบายทุกอย่าง ข่มขู่คุกคามฝ่ายที่ต่อต้านรัฐาธิปัตย์ ถึงขั้นที่บางคนต้องออกมาร้องหารัฐบาลแห่งชาติ โดยหารู้ไม่ว่ารัฐบาลแบบนั้นทุกพรรคต้องสลายตนออกไป แล้วคนที่จะมาบริหารประเทศก็ไม่ใช่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงคนที่จะดูแลกระบวนการนิติบัญญัติในรัฐสภา ก็ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่าลืมว่าพลเอกประยุทธ์ยังเป็นหัวหน้า คสช. ที่ยังมีอำนาจถึงขั้นอาจจะใช้มาตรา 44 ทำอะไรก็ได้ ซึ่งถ้าเราจะ “มองโลกให้สวย” อาจจะฝันไปได้ว่า หลังวันที่ 9 พฤษภาคม ถ้ากกต.ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ หรือถ้าประกาศผลการเลือกตั้งได้แต่ประชุมสภาไม่ได้ จนถึงประชุมสภาได้แต่ตั้งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ พลเอกประยุทธ์อาจจะใช้อำนาจพิเศษตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ขึ้นมาก็ได้ เพียงแต่ท่านต้องหา “นายกฯคนกลาง” ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายให้ได้ แล้วประกาศว่ากองทัพจะปกป้องรัฐบาลแห่งชาติชุดนี้ไปสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ทำหน้าที่ในการวางโครงสร้างทางการเมืองเสียใหม่ แล้วมีเลือกตั้งใหม่โดยเร็วต่อไป ลุงตู่ก็จะลงเวทีได้อย่างสวยงาม เป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป