เสือตัวที่ 6 สถานศึกษาบางแห่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในสถานศึกษาอิสลามที่ล่อแหลม ในการจัดตั้งสมาชิกและเป็นแหล่งผลิตกำลังรบ ตลอดจนแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่นั้น เริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับ ด้วยหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ ได้ตระหนักรู้ในความสำคัญของประเด็นปัญหานี้ ซึ่งแต่เดิมนั้น การให้ความคิดในสถานศึกษาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่ง ในการขับเคลื่อนการต่อสู้ของขบวนการแห่งนี้ ให้ยังคงดำรงความต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเน้นยุทธศาสตร์การยึดครองมวลชนในหมู่บ้านเป็นฐาน และอาศัยการบ่มเพาะแนวความคิดการก่อความไม่สงบในสถานศึกษาศาสนาอิสลามเพื่อจัดตั้งสมาชิกและเป็นแหล่งผลิตกำลังรบให้มีความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อจัดตั้งเป็นรัฐปัตตานีดารุสลาม เป้าหมายในระดับยุทธศาสตร์ใหญ่สุดท้ายที่ต้องการ นั่นคือ การปกครองตนเองอย่างอิสระ แต่ยังคงมีกระบวนการในการนำเยาวชนเป้าหมาย มาจัดตั้งเป็นแนวร่วมของขบวนการ จนอาจถึงขั้นร่วมเป็นกองกำลังติดอาวุธในท้ายที่สุด ทั้งนี้เพื่อดำรงการต่อสู้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้สถานศึกษาอิสลามบางแห่งในพื้นที่ เป็นแหล่งสะสมบ่มเพาะแนวความคิดการก่อความไม่สงบ ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงสามารถสร้างเปอมูดอ(เยาวชนจัดตั้ง) เพื่อสนับสนุนและสืบทอดแนวความคิดในการต่อสู้ด้วยความรุนแรงภายใต้ความเชื่อและศรัทธาใน”สงครามญีฮาด” ทำให้สถานการณ์ความความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง การศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานเคร่งครัดในศาสนา เพราะมีความเชื่อถือ ศรัทธาต่อกลุ่มโต๊ะครูหรือครูสอนศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับเห็นว่า การศึกษาในสถานศึกษาทางศาสนาอิสลามดังกล่าวมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตอิสลาม และโอกาสในการเข้าถึงสถานศึกษาดังกล่าวมีมากกว่าสถานศึกษาของรัฐสายสามัญของรัฐทั่วไป ที่สำคัญคือ ขบวนการได้มีการสอดแทรกเข้ามาแสวงประโยชน์จากการที่สถานศึกษาบางแห่ง ให้เป็นแหล่งศูนย์รวมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ในการสร้างสมาชิก หรือแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยใช้สถาบันปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางแห่งดังกล่าว เป็นสถานที่ในการหล่อหลอมกล่อมเกลาความคิด ความเชื่อ อย่างเป็นระบบ จนเป็นการบ่มเพาะแนวความคิดการก่อความไม่สงบ เพื่อเป้าหมายระดับยุทธศาสตร์สำคัญคือ การแบ่งแยกดินแดน นักจัดตั้งเยาวชน (เปอร์กาเดส) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสภาปฏิบัติงานกลางของขบวนการ มีหน้าที่ในการสร้างสมาชิกของขบวนการหรือเยาวชนจัดตั้ง(เปอมูดอ) โดยมีงานที่สำคัญคือ การคัดเลือกเยาวชนจากในสถานศึกษาศาสนาอิสลาม เพื่อคัดเลือกเข้าทำการฝึกเป็นเยาวชนจัดตั้ง (เปอมูดอ) และคัดเลือกเข้าทำการฝึกเป็นทหารหรือ RKK ต่อไป ด้วยความเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ ทำให้สถานศึกษาบางแห่งในพื้นที่ดังกล่าว เป็นจุดศูนย์ดุลที่หน่วยงานภาครัฐ ไม่สามารถเข้าถึงสถานศึกษาเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง กระบวนการในการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบ จึงสามารถกระทำได้โดยแกนนำและแนวร่วมขบวนการได้อย่างเสรี จนกระทั่งในห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยกลยุทธ์การดำเนินการของภาครัฐ ทำให้ในปัจจุบัน หน่วยงานด้านความมั่นคง สามารถเข้าไปในสถานศึกษาในพื้นที่ได้มากขึ้น โยหน่วยงานความมั่นคงซึ่งเป็นหน่วยงานทางทหารที่เป็นหน่วยงานที่บุกเบิก นำร่องการเข้าถึงสถานศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะสถานศึกษาที่ล่อแหลมต่อการบ่มเพาะแนวคิดการก่อความไม่สงบให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงเหล่านั้น ได้ใช้ความพยายามในการเข้าไปให้การช่วยเหลือ สนับสนุนกิจการของสถานศึกษา และเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความต้องการของสถานศึกษาในพื้นที่สู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาสถานศึกษาได้มากขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงสถานศึกษาของหน่วยงานด้านความมั่นคงดังกล่าว ยังคงกระทำได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงบุกเบิก นำร่องเท่านั้น โดยยังไม่สามารถเข้าถึงการให้การเรียนการสอน การให้ความรู้ ความคิดของสถานศึกษาที่มีต่อเด็กและเยาวชนได้เท่าที่ควร จึงยังคงเป็นช่องว่างให้อาจมีการสอดแทรกแนวคิดการก่อความไม่สงบในสถานศึกษา โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนต่อนักเรียนที่อยู่ประจำได้ และที่สำคัญ สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ชุมชน เพื่อนำสันติสุขมาสู่พื้นที่แห่งนี้ได้ไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะในระดับนโยบาย ควรจะต้องเร่งดำเนินการมองนโยบายการเข้าถึงสถานศึกษาที่ล่อแหลมในการบ่มเพาะแนวคิดความเห็นต่างเหล่านั้นอย่างเป็นระบบและมีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเพื่อให้หน่วยงานระดับปฏิบัติมีแนวทางหรือรูปแบบที่ชัดเจนในการดำเนินการเพื่อการเข้าถึงสถานศึกษาเหล่านั้น รวมทั้งแนวทางการการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษากับชุมชนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นตามแนวทางสันติวิธี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เหล่านี้จึงเป็นมุมมืดที่สาธารณะโดยทั่วไปยากที่จะทำความเข้าใจรับรู้ได้ เพราะการแสวงหาแนวร่วมที่เป็นเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาบางแห่ง เป็นจุดอับ เป็นมุมมืดที่หน่วยงานภาครัฐจะเข้าไปเจาะหาความจริงจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้โดยง่าย คำตอบสำคัญในการต่อยอดการเข้าถึงสถานศึกษาของหน่วยงานด้านความมั่นคงในระยะบุกเบิกดังกล่าว เพื่อเปิดพื้นที่ที่เป็นมุมมืดเหล่านั้น ให้เป็นพื้นที่สว่างอย่างเป็นระบบ นำพลังจากเด็กและเยาวชน รวมทั้งครู อาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษาในการดำเนินการเชิงรุก เพื่อเปิดพื้นที่สถานศึกษาและโน้มนำกระแสของการคิดเชิงบวก (Positive Thinking) ระหว่างสถานศึกษากับชุมชนในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จนกลุ่มคนหัวคิดรุนแรงในพื้นที่ไม่สามารถก่อเหตุรุนแรงได้อย่างเสรีอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา ตลอดจนเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเข้าใจ ปรับทัศนคติที่ดีให้กับเยาวชนในสถานศึกษาเหล่านั้น ให้เป็นแหล่งผลิตมวลชนให้กับภาครัฐ อันจะทำให้การนำสันติสุขมาสู่พื้นที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลให้ผู้ก่อความไม่สงบ จำเป็นต้องยุติการใช้อาวุธ และกลับมาต่อสู้ในแนวทางสันติวิธีในที่สุด