เมื่อใดก็ตาม ที่ "ศัตรู" มองเห็น "จุดอ่อน" โอกาสที่จะถูกเขย่าและโจมตีเพื่อขยายผล ยิ่งมีมากเท่านั้น และแน่นอนว่าหากยังไม่สามารถแก้ไขจุดอ่อน เพื่อพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเป็นฝ่ายบุกได้โดยเร็ว มากเท่าใด ก็จะยิ่งสร้างปัญหาที่พัวพันมากขึ้นเท่านั้น ! ตลอดหลายวันที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ในท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการพักเบรคไปตามเทศกาลสงกรานต์ด้วยนั้น หนึ่งในหลายประเด็นที่สร้างความร้อนแรงจนกลายเป็นการ "เรียกแขก" เปิดทางให้ เกิดวิวาทะนั่นคือ ข้อเสนอที่ว่าด้วย "รัฐบาลแห่งชาติ" สืบเนื่องมาจากกรณีที่ "เทพไท เสนพงศ์" ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวคิดการตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" และ "นายกฯคนกลาง" เพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองเสียงปริ่มน้ำในการตั้งรัฐบาลขณะนี้ แต่กลับมีเสียงตอบโต้และท่าทีที่ถูกสวนกลับจาก "ฝ่ายการเมือง" ไปจนถึงการที่ทั้ง "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) และ "บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่เออออ ห่อหมกด้วย โดยเฉพาะฝั่งที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ย่อมไม่มีทางเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลแห่งชาติ หรือ นายกฯคนนอก คือการเปิดหนทางการกลับมาสู่อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์และคสช. โดยปริยาย ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่เห็น "อาการถอยร่น" จากเทพไท หลังจากที่โดนถล่มจาก "กองเชียร์" ของบิ๊กตู่ หรือแม้แต่ฝ่ายการเมือง เพราะอย่าลืมว่านี่คือข้อเสนอที่เปิดประตูต้อนรับ "คนนอก" ซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่ใช่ นักการเมืองที่ต่างฝ่าฟันสนามเลือกตั้ง เพื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าจะเป็นฝั่ง "พรรคเพื่อไทย"เอง หรือ "พรรคพลังประชารัฐ" เองที่กำลังอยู่ในห้วงเวลาของการแข่งขันกันตั้งรัฐบาลอย่างดุเดือด ทั้งที่ต่างอยู่ในภาวะ แข่งกันรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ หวุดหวิด ฉิวเฉียดเกิน 250 ที่นั่งแค่ไม่กี่เสียง เหมือนกันทั้ง พลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย ! ล่าสุด "ไพบูลย์ นิติตะวัน" หัวหน้าพรรคปฏิรูปประชาชน ในฐานะ "กองหนุน" ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาเบรคเกมแรงที่กำลังจะปรับทิศปรับทางไปสู่การปิดประตูไม่ให้บิ๊กตู่ ได้กลับมาด้วยการโยนข้อเสนอใหม่ หาทางออกให้กับทุกๆฝ่ายด้วยการหยิบ "มาตรา 270" ในรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาเป็น "ตุ๊กตาตัวใหม่" เพื่อดับ "รัฐบาลแห่งชาติ" รวมทั้งยังเพื่อแก้ไขปัญหา "เสียงปริ่มน้ำ" ให้กับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ โดยเฉพาะเพื่อผ่าทางตันในเรื่องของการผ่านกฎหมายต่างๆ ไปจนถึงการพิจารณา กฎหมายงบประมาณแผ่นดินนั้น โดยใช้การพิจารณากฏหมายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในภาวะที่พรรคพลังประชารัฐเองที่ตั้งท่า เตรียมจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง แต่กลับต้องเผชิญหน้ากับ "ความเป็นจริง" ที่ว่า พรรคไม่สามารถกวาดที่นั่งส.ส.เข้าสภาฯได้จำนวนมาก อย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งยังต้องพึ่งพา พรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อรวบรวม "เสียงข้างมาก" ภายใต้ "ความไม่แน่นอน" จากตัวเลขส.ส.ที่จะได้รับการรับรองจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนเกิดเป็นภาวะ "สุญญากาศ" เช่นนี้ กำลังกลายเป็น "จุดเปราะบาง" เป็นช่องโหว่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พรรคพลังประชารัฐ ยืนผงาดด้วยความเชื่อมั่น ก่อนลงสนามเลือกตั้ง ข่ม "ฝ่ายตรงข้าม" อย่างเห็นๆมาแล้วก็ตาม !!