เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com ความหลากหลายทางภาษาเป็นความงดงาม ความร่ำรวย ถ้าเรียบเรียงให้สัมผัสสัมพันธ์กันได้ดีและมีความหมายก็กลายเป็นศิลปะ เป็นสุนทรียะ สะท้อนความละเอียดอ่อนของจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ภาษามีคุณค่ามากกว่าเพียงการสื่อสาร มี พลังอำนาจŽ ที่สามารถกำหนดความสัมพันธ์และพฤติกรรมทางสังคมของผู้คนได้ จึงมีคนที่อยากลดทอนความหลากหลายของภาษาลง ด้วยเหตุผลทางสังคมการเมือง อ้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อย่างคำสรรพนามต่างๆ ที่อยากให้เรียบง่ายไม่วุ่นวายยุ่งยาก แสดงออกถึงความเท่าเทียม ด้วยเห็นแบบอย่างที่ภาษาฝรั่งใช้กัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เผด็จทุกยุคสมัย ไม่ว่าบุคคลหรือลัทธิ ต่างก็พยายามกำหนดภาษา สรรพนาม เพื่อแสดงออกถึงอำนาจ ดูภาษาที่เกิดในยุคของฮิตเลอร์ มุสโสลินี หรือพรรคอมมิวนิสท์ รวมไปถึงของไทยในสมัยจอมพลป.พิบูลย์สงคราม ที่พยายามทำให้สรรพนามไทยเหลือเพียง ข้าพเจ้า-ท่านŽ เพื่อแสดงถึง ความเจริญŽ จนมีหนังสือพิมพ์เขียนล้อเลียนว่า พ่อตีลูก ลูกถามว่า ทำไมท่านจึงตีข้าพเจ้าŽ พ่อตอบว่า ข้าพเจ้าตีท่าน เพราะท่านไม่ไปโรงเรียนŽ คล้ายกับวันนี้ที่มีนักการเมืองหน้าใหม่อยากให้คนในพรรคของตนเลิกใช้คำนำหน้าว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ให้มีเพียง คุณ ผม ดิฉัน ก็พอ เมื่อเรี่มที่พรรคได้ก็จะขยายไปสู่สังคม การลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการปฏิเสธความหลากหลายของภาษา ก็คล้ายกับการถางสวนป่าหลังบ้านที่งดงามและเต็มไปด้วยพืชพันธุ์ที่ให้ปัจจัย ๔ ให้เหลือเพียงมันสำปะหลังกับยางพารา ความเท่าเทียมคงไม่ได้อยู่ที่ภาษาสรรพนามที่ถูกลดทอนลงมาเท่านั้น แต่อยู่ที่กฎหมาย ระบบโครงสร้างและจิตสำนึกของผู้คนมากกว่า ประเทศสหราชอาณาจักรที่เป็นแม่แบบของประชาธิปไตย ไม่มีรัฐธรรมนูญ แต่มีกฎหมายที่ทำให้คนอยู่ร่วมกัน เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นคน รวมทั้งยังมีระบบกษัตริย์ ยังมีภาษาราชาศัพท์ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษายุโรปต่างก็มีคำสรรพนามที่ให้เกียรติ ยกย่องคนอื่นด้วยความสุภาพ ความเท่าเทียมอยู่ที่ตัวบทกฏหมายและการบังคับใช้กฎหมาย จิตสำนึกและวินัยของคนในชาติ ดังมาตราแรกของรัฐธรรมนูญเยอรมันที่บอกว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ย่อมละเมิดมิได้ รัฐมีหน้าที่เคารพและปกป้องŽ การที่นักการเมืองบางคนอยากลดความหลากหลายของสรรพนามลงมา อ้างว่าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ให้เกิดความเท่าเทียม น่าจะมาจากโลกทัศน์ชีวทัศน์ธุรกิจ ที่มองโลกแบบแยกส่วนและลดทอน เหลือเพียงกลไก ที่ทำให้สังคมไทยกลายเป็นเพียงเวทีอำนาจและผลประโยชน์ พรรคการเมืองกลายเป็นเหมือนบริษัท ความสัมพันธ์เชิงธุรกิจแบบทุนนิยมสามานย์ มีเรื่องกำไร ผลประโยชน์เป็นหลัก ไม่มีคำว่าเมตตา เอื้ออาทร ขอให้ได้กำไรเป็นพอ คุณจะเป็นจะตายก็ช่างปะไร จึงไม่อยากนับญาติกับใคร ไม่อยากให้ใครมานับญาติ มาเรียกพี่ ลุง ป้า น้า อา เอาแค่คุณ ผม ดิฉัน ก็พอ วันนี้สังคมทั่วไปก็กลายเป็นบริษัท เป็นธุรกิจ เป็นความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ คุณเป็นเพียง ลูกค้าŽ เป็น ผู้โดยสารŽ ที่พนักงานเขาเรียก สูญเสียความงดงาม ความร่ำรวยของภาษาไป ที่สำคัญ ได้สูญสียคุณค่าที่ดีงามของสังคมไทย คือ ทุนทางสังคม อันหมายถึงความไว้วางใจกัน (trust) ความสัมพันธ์อันดีของผู้คนในสังคม ความเป็นพี่น้อง ที่สะท้อนออกมาทางภาษา ซึ่งเป็นหน้าต่างของวิญญาณ การที่คนเรียกสรรพนามว่า พี่ ลุง ป้า น้า อา เป็นสัญลักษณ์ของความเคารพนับถือกัน ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย เหมือนไม้ในป่าที่มีนานาพันธุ์ มีหลายระดับ ที่ต่างก็เกื้อกูลกันให้อยู่เป็นป่าที่ให้ชีวิตแก่พืชสัตว์และอื่นๆ ป่าไม้เศรษฐกิจเดี่ยวๆ ทั้งหลายไม่ได้เอื้อความหลากหลายแก่ชีวิตอะไรอื่นนอกจากตัวเอง เมื่อผู้ใหญ่เรียกเด็กว่า ลูกŽ คงไม่มีใครไปตู่เอาว่าเป็นลูกตัวเอง แต่แสดงถึงความเอ็นดูเด็ก เช่นเดียวกับคนหนุ่มคนสาวเรียกคนที่ไม่ใช่ญาติทางสายเลือด เป็นญาติทางวัฒนธรรมว่า พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นความเคารพนับถือ คือความร่ำรวยของภาษาไทยที่ภาษาฝรั่งไม่มี หรือมีน้อยกว่ามาก สรรพนามที่หลากหลายสะท้อนความละเอียดอ่อนในความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คน ที่ให้เกียรติกัน ยอมรับนับถือกัน เคารพผู้ใหญ่กว่า อาวุโสกว่า คือกาละเทศะทางวัฒนธรรมที่ดีงาม ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมซึ่งอยู่ที่พฤติกรรม อยู่ที่ท่าที อยู่ที่จิตใจของผู้คนต่างหาก ซึ่งไม่ว่าจะใช้สรรพนามหลากหลายหรือเพียงไม่กี่คำก็เหลื่อมล้ำได้ เอาเปรียบได้ กดขี่ข่มเหงได้ คำพูด สรรพนามก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่พฤติกรรมสำคัญกว่า ในสังคมก็เช่นเดียวกัน ระบบโครงสร้างที่เป็นธรรมสำคัญกว่า สรรพนามในภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ช่วยให้ เสื้อกั๊กเหลืองŽ หยุดประท้วงทุกเสาร์มาได้ห้าหกเดือน เพราะชาวบ้านฝรั่งเศสทนไม่ได้กับความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลมาครงซ้ำเติม ของฝรั่งที่ดีๆ ก็มี กลับไปเอาเรื่องเลวๆ ของเขา อย่างประเพณีรับน้องแบบรุนแรงในสถาบันการศึกษาเพื่อให้ยอมสยบอยู่ในอำนาจ สร้างระบบอาวุโส สั่งสมเป็นฐานวัฒนธรรมความรุนแรงและความเหลื่อมล้ำ ทีแบบนี้ไม่สนใจไปล้มเลิก ยังไปยอมให้นักศึกษาเรียก พ่อของฟ้าŽ แบบไม่เขินอายอีกต่างหาก ในทุนนิยมสามานย์และการเมืองสามานย์ ผลประโยชน์และอำนาจไม่ปรานีใคร ทำลายได้แม้กระทั่งมรดกอันยิ่งใหญ่ที่สุดของสังคมไทย คือ ทุนทางสังคม ความเป็นพี่เป็นน้อง ความเอื้ออาทร การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ลดสังคมไทยลงไปให้เป็นเพียง บริษัทไทยแลนด์จำกัด (มหาชน)Ž