เสือตัวที่ 6
การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกกันว่าภาคประชาสังคม (Civil Society Organizations : CSO) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการเคลื่อนไหวกันอย่างกว้างขวางในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา ประวัติศาสตร์ และกลุ่มเยาวชนต่างๆ เป็นต้น โดยข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงว่า มีมากถึง 521 กลุ่มนั้น พบว่า ส่วนหนึ่งในจำนวนนั้น เป็นกลุ่มที่ถูกแอบจัดตั้งโดยกลุ่มคนเห็นต่างจากรัฐ รวมทั้งกลุ่มที่เป็นแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อการอำพรางการเคลื่อนไหวในการต่อสู้กับรัฐในรูปแบบของภาคประชาชน โดยให้การสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธของกองกำลังติดอาวุธ เพื่อให้การแก้ปัญหาของรัฐนั้น กระทำได้ยากมากขึ้น และความมุ่งประสงค์ของกลุ่มคนที่เรียกกันว่าภาคประชาสังคมที่มีวาระซ่อนเร้นเหล่านี้ เพื่อใช้เป็นเวทีในการอำพรางการรวมตัวกันถ่ายทอดแนวคิดในการแปลกแยกจากรัฐไทยให้แผ่ขยายวงกว้างออกไปในกลุ่มคนเป้าหมายให้มากขึ้น เป็นโอกาสในการประชุมสัมมนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อขยายแนวคิดการต่อสู้กับรัฐอย่างแนบเนียน โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐ ยากที่จะเข้าไปตรวจสอบและระงับยับยั้งการจัดกิจกรรมที่อำพรางต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างทันท่วงที
หลายกรณีที่แหล่งข่าวของรัฐ แจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปตรวจสอบการจัดกิจกรรมบางแห่ง พบว่ามีการซ่องสุม รวมตัวของเด็กและเยาวชน ขยายแนวคิดการแปลกแยกระหว่างคนต่างศาสนาในพื้นที่ เพิ่มความเกลียดชังให้กลุ่มเป้าหมายผ่านการให้ข้อมูลด้านเดียวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนในพื้นที่ รวมทั้งมีการเตรียมร่างกายและเพิ่มความมั่นใจในการต่อสู้กับรัฐ แต่กลับถูกแก้ตัวว่า เป็นการจัดกิจกรรมของเยาวชนอันเป็นปกติ ในช่วงเข้าค่ายฤดูร้อน เหล่านั้นคือการรวมตัว จัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนกลุ่มคนที่เรียกว่าภาคประชาสังคมที่มีวาระซ่อนเร้น และเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เหล่านี้คือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการต่อสู้ที่ผันแปรไปตามสถานการณ์ของนักคิดในขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ไม่เคยหยุดนิ่งการเคลื่อนไหวการต่อสู้กับรัฐแม้แต่น้อย ภาคประชาสังคมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับรัฐที่อาศัยกระแสโลกในการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในพื้นที่ด้วยคนในพื้นที่เหล่านั้นเอง ที่มุ่งเน้นการรวมตัวของคนในพื้นที่ที่มีปัญหานั้น และสะท้อนปัญหาและทางออกของปัญหา ออกมาในรูปของกลุ่มคนภาคประชาสังคม ซึ่งกำลังถูกจับตามาองของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
หากแต่การต่อสู้ของรัฐที่มีต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนภาคประชาสังคมดังกล่าวในเวลานี้ ต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มภาคประชาสังคมเหล่านั้น และต้องหาแนวทางที่เป็นประโยชน์มากที่สุดในการต่อสู้ เพื่อชิงพื้นที่การขับเคลื่อนของกลุ่มคนภาคประชาสังคมให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ และเป็นการโต้กลับกลุ่มภาคประชาสังคมที่กำลังขับเคลื่อนกิจกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ไปสู่การจัดกิจกรรมของกลุ่มคนในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อให้คนในพื้นที่เห็นประโยชน์ของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเพื่อคนในท้องถิ่นเองอย่างสร้างสรรค์ อย่างเช่นกลุ่ม Plogging Pattani และ Plogging Narathiwat ที่กำลังได้รับความสนใจของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ปลายด้ามขวานอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นกลุ่มที่ทำประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ให้คนในพื้นที่แบบง่ายๆ ด้วยการช่วยกัน เก็บขยะ ในพื้นที่ของตน ด้วยความหมายชองคำว่า "Plogging" ก็คือการจ็อกกิ้ง แล้วเก็บขยะที่พบเห็นระหว่างทางนั้นเอง เป็นการผสมผสานการออกกำลังกายกับการพัฒนาเมือง พัฒนาท้องถิ่นที่อยู่อาศัยของตนเองให้สะอาด โดยกิจกรรมนี้ถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียจนได้รับความสนใจและมีผู้ลองทำตามเป็นจำนวนมาก กระทั่งเกิดเป็นกระแส Plogging ขึ้นมา
ปฏิญญา อารีย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Plogging Pattani บอกเล่าถึงความยากในการทำความดีและการเป็นจิตอาสาว่า สิ่งที่ร่วมทำเพื่อร่วมรักษาความสะอาด เพื่อให้ปัตตานีน่าอยู่ เห็นความสำคัญเรื่องขยะมากขึ้น อาสาทุกคนมีความสุขกับการได้ร่วมกันเก็บขยะ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการร่วมกันทำความดี เพื่อส่วนรวมที่น่าอยู่ผ่านกิจกรรมที่ดูว่าเล็กๆ น้อยๆ เช่นการรวมตัวกันเก็บขยะ หากแต่สิ่งที่ได้ทางอ้อมนั้นยิ่งใหญ่กว่าการเก็บขยะ นั่นก็คือ การกระตุกเตือนความคิดของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังตกเป็นแนวร่วมฝ่ายเห็นต่างจากรัฐ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ทำกิจกรรม เคลื่อนไหวเพื่อการทำลายความน่าอยู่ของบ้านเกิดเมืองนอนของตนอย่างไม่มีเหตุผลเพียงพอ การรวมตัวกันเก็บขยะในที่สาธารณะผ่านการออกำลังกายของกลุ่ม Plogging Pattani และ Plogging Narathiwat ครั้งนี้ คือการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมอย่างสร้างสรรค์ เป็นตัวอย่าง เป็นต้นทางของการแก้ปัญหาที่กำลังถูกยุแหย่จากคนกลุ่มหนึ่ง ให้กลับมาร่วมกันแสวงหาทางออกของปัญหาอย่างสร้างสรรค์ที่รัฐ จะต้องส่งเสริมการขับเคลื่อนกิจกรรมในลักษณะนี้อย่างจริงจัง