ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
ช่วงรอยต่อปีเก่า-ปีใหม่ พ.ศ.2559-2560 หลังเดินทางไปร่วมประชุม ณ ที่ว่าการอำเภอเบตง ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ผู้เขียนถือโอกาสเดินทางกลับนราธิวาส และใช้เวลาหลายวันอยู่ที่สุไหงปาดี อำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งในจำนวน 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส มีโอกาสได้เฝ้าดูวิถีชีวิตของผู้คนอย่างเงียบๆ ในชุมชนสุไหงปาดียังมีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่กันมาก มีตลาดใหญ่ตั้งอยู่กลางชุมชน จึงไม่แปลกที่เช้าเย็นจะเห็นพี่น้องทั้งพุทธ-มุสลิม-จีน ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปกติสุขและเรียบง่าย เจอหน้าก็ทักทายด้วยอัธยาศัยไมตรี ถามสารทุกข์สุกดิบ ซื้อขายแลกเปลี่ยนค้าขายระหว่างกันเช่นในอดีตที่ผ่านมาหลายสิบหลายร้อยปี
ระหว่างช่วงพักผ่อนหยุดยาวของประชาชนคนไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้คนส่วนใหญ่มักทอดสายตาไปยังภาคเหนือ เพราะตั้งใจไปสัมผัสอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะตามยอดดอยป่าเขา ส่วนภาคใต้ผู้คนมักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง ส่วนภาคใต้ตอนล่างเช่น “ชายแดนใต้” ยังคงเป็นพื้นที่ “ต้องห้าม” ในความรู้สึกสำหรับใครหลายคน บรรยากาศในฤดูท่องเที่ยวจึงเงียบเหงาไม่เหมือนเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ แถมช่วงนี้ภาคใต้ตอนล่างเป็นช่วงฤดูฝน ฟ้าฝนจึงเป็นใจตกต่อเนื่องข้ามปีหลายค่ำคืน กระทั่งในที่สุดชาวบ้านก็เดือดร้อน
มีรายงานตามสื่อต่างๆ ว่า ฝนที่เทตกลงมาอย่างต่อเนื่องช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำให้หลายพื้นที่ของ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีน้ำท่วมสูง บางตำบลเจอสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากทำให้ถนนขาด เจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานต่างๆ ต้องระดมกำลังเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
ขณะเดียวกัน ช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวันที่ทำให้หลายพื้นเผชิญปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก พร้อมกันนั้นปรากฏข่าวลือว่า กำลังจะมีการปล่อยน้ำที่ล้นทะลักจากเขื่อนบางลางออกมา ซึ่งจะส่งผลห้ประชาชนยิ่งประสบความเดือดร้อนมากขึ้น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จึงได้ร่วมกับ การไฟฟ้าเขื่อนบางลาง เร่งแถลงข่าวให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง โดย ไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยในนามของศูนย์วิทยุโทรศัพท์ สายด่วนอุ่นใจ ศอ.บต.1880 ว่า ได้เตรียมตั้งหลักเพื่อรับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะฝนตกตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเบื้องต้นว่าจะมีฝนตกต่อเนื่องไปอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ และจำเป็นต้องติดตามในเรื่องของสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ในการติดตามครั้งนี้ ศอ.บต. ได้เปิดสายด่วนอุ่นใจ 1880 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรับฟังข่าวสารและประสานงานกัน
หากประชาชนมีความสงสัยเกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วม การเดินทาง และเรื่องน้ำในเขื่อนบางลาง ให้ติดต่อสอบถามได้ทันที โดยทางเจ้าหน้าที่จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เขต 12 สงขลา และ ปภ.จังหวัด ทุกจังหวัด ส่วนข่าวลือตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ยืนยันได้ว่าเขื่อนบางลางยังไม่เคยปล่อยน้ำ เนื่องจากน้ำในเขื่อนบางลางยังมีจำนวนน้อยมาก ที่เห็นในปัจจุบันเรื่องของน้ำท่วมนั้น เป็นฝนตกท้ายเขื่อนส่วนใหญ่ เขื่อนบางลางสามารถจุน้ำได้ในปริมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีน้ำอยู่ในประมาณครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 47% เพราะฉะนั้นยังสามารถรับปริมาณน้ำได้อีกมากกว่าครึ่งในขณะนี้ จึงยังไม่มีมาตรการและนโยบายในการปล่อยน้ำ แต่ต้องการเก็บกักเก็บน้ำไว้ใช้มากกว่า
สำหรับเหตุการณ์สำคัญในรอบปี 2560 ที่น่าจับตามอง คือ หากนับเนื่องจากวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่จากค่ายจากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ก็นับเป็นวาระครบรอบ 13 ปีไฟใต้ ซึ่งในทัศนะของฝ่ายความมั่น ยืนยันว่าสถิติความรุนแรงในพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้สรุปสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้ว่า ในภาพรวม เหตุรุนแรงทุกประเภท ทั้งลอบยิง ลอบวางระเบิด วางเพลิง และอื่นๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น 15,541 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้เป็นเหตุที่เกี่ยวกับความมั่นคง 9,483 เหตุการณ์ หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ส่วนที่เหลือมาจากเหตุปัจจัยอื่น เช่น ความขัดแย้งส่วนตัว ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับท้องถิ่น เป็นต้น ส่วนตัวเลขความสูญเสีย โดยเฉพาะการเสียชีวิต พบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทุกประเภทในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งสิ้น 7,248 คน เป็นการเสียชีวิตจากเหตุที่เกี่ยวกับความมั่นคง 4,543 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 62.67
กอ.รมน. ระบุว่า แม้ภาพรวมของสถานการณ์จะยังมีความพยายามก่อเหตุรุนแรงและมีความสูญเสียปรากฏอยู่ แต่จากสถิติตัวเลข 3 ปีย้อนหลัง พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ โดยเหตุปัจจัยที่ กอ.รมน.วิเคราะห์ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกแนวทางจนทำให้ความรุนแรงและความสูญเสียลดลงตามลำดับ มี 3 ประการ คือ 1.ประสิทธิภาพของงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีมากขึ้น ผ่านการควบคุมพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมายที่มีเข้มข้น รวมทั้งงานเสริมนโยบายเร่งด่วน เช่น การทำเส้นทางปลอดภัย 24 ชั่วโมง การติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและการเชื่อมต่อระบบทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ 2.ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน ทั้งเรื่องน้ำมันเถื่อนและสินค้าหนีภาษี ตลอดจนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งมียอดจับกุมสูงมาก และ 3.ประสิทธิภาพงานการเมือง ผ่านโครงการประชารัฐร่วมใจ สร้างอำเภอสันติสุข และโครงการพาคนกลับบ้าน
ทั้งนี้ “ทีมข่าวอิศรา” ซึ่งนำเสนอสกู๊ปพิเศษเรื่อง “13 ปีไฟใต้.. สถิติรุนแรงลด งบจ่อ 3แ สนล้าน ตั้ง "องค์กรพิเศษ"เพิ่ม” ได้
ตั้งเป็นข้อสังเกตว่า แม้ตัวเลขสถิติความรุนแรงจะดูดีขึ้น แต่ผู้ได้รับผลกระทบหนักที่สุดยังคงเป็น “ประชาชนผู้บริสุทธิ์” ใน
พื้นที่ นอกจากนี้ได้ไล่เรียงตัวเลขงบดับไฟใต้ หากนับตั้งแต่ปี 2547 (นับเป็นปีงบประมาณ) ถึงสิ้นปีงบประมาณ 2559 ผ่านมา
แล้ว 13 ปีงบประมาณ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงบประมาณได้แยก “งบดับไฟใต้” ไว้เป็นหมวดหมู่ต่าง
หาก มียอดรวมทั้งสิ้น 264,953 ล้านบาท หากพิจารณาข้อมูลจาก 13 ปีงบประมาณ จะพบว่างบดับไฟใต้ปี 2559 มียอดสูงที่สุด
คือทะลุ 3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นงบที่รัฐบาล คสช. จัดทำเองทั้งหมด รวมถึงงบประมาณปี 2560 ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1
ตุลาคมที่ผ่านมา
ปีใหม่ 2560 นี้ ปัญหาชายแดนใต้ยังคงถูกจับตามองจากหลายภาคส่วน ประชาชนก็เฝ้ารอความหวังว่าเมื่อไรเหตุการณ์จะยุติลงได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดเหตุร้ายใดๆ อีก ในมุมมองของนักวิชาการ มีเสียงเรียกร้องให้มีการจัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลงานอย่างจริงจังของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม เพื่อประเมินผลและกำหนดทิศทางการดำเนินงานอย่างชัดเจน ให้เห็นภาพรวม “ไฟใต้” และเพิ่มความมั่นใจว่าต่างก็มา “ถูกทาง” จริงๆ
จะอย่างไรก็ตาม ชีวิตยังคงดำเนินต่อไปพร้อมกับความหวังใหม่ๆ ผู้เขียนขอถือโอกาสนี้กล่าวคำ “สวัสดีปีใหม่ 2560” ผู้อ่านทุกท่าน ท่ามกลางสายฝนในพื้นที่ที่ยังคงตกอย่างต่อเนื่อง... “ขอให้ทุกคนจงมีแต่ความสุขความเจริญ สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีความหวังกับสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตร่วมกัน” และที่สำคัญ เชิญชวนให้ร่วมส่งกำลังใจให้เกิดสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ววัน