ณรงค์ ใจหาญ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ซึ่งมีมาตรการทางปกครองที่ควบคุมการผลิต จำหน่าย การจัดเก็บ ขนส่งวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเพิ่มมากขึ้นกว่าพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งถูกยกเลิกไปและใช้กฎหมายใหม่นี้แทน ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมการผลิต การจำหน่าย และการเสพที่เข้มงวดมากขึ้น ภายใต้การดูแลของเภสัชกรในกรณีผลิตและจำหน่าย และการซื้อเพื่อเสพตามใบสั่งของแพทย์ เพราะวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทนี้ มิได้เป็นสารเสพติด แต่ถ้ามีการเสพอย่างต่อเนื่อง จะมีผลกระทบต่อจิตและประสาทได้หากมีการใช้ที่ไม่ถูกต้องหรือเกินปริมาณที่กำหนด จึงมีความจำเป็นต้องมีแพทย์ควบคุมการใช้ โดยต้องมีใบสั่งแพทย์เพื่อซื้อ ส่วนร้านค้าที่จำหน่ายต้องมีเภสัชกรควบคุมการจำหน่าย และต้องมีระบบการควบคุมปริมาณวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ไม่ว่าจะเป็นปริมาณที่ครอบครองและการป้องกันการสูญหายในระหว่างการขนส่งเพื่อจะทราบปริมาณที่ร้านจำหน่ายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเพื่อป้องกันการลักลอบจำหน่ายต่อไป กฎหมายกำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยต้องดำเนินการโดยได้รับใบอนุญาต และมีหน้าที่ในการจัดให้มีป้ายแสดงสถานที่ผลิต จัดให้มีการวิเคราะห์วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท รวมถึงการบันทึกการวิเคราะห์ จัดให้มีฉลาก และเอกสารกำกับวัตถุออกฤทธิ์ แยกเก็บวัตถุออกฤทธิ์เป็นส่วนสัดจากยาหรือวัตถุอื่น ทำบัญชี และผลิตตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งแยกภาระหน้าที่ตามประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งพักใบอนุญาตเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้มีกำหนดครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอายัดวัตถุที่ออกฤทธิ์ที่เหลือของผู้ที่ถูกพักใบอนุญาต อีกทั้งยังไม่มีสิทธิขอรับใบอนุญาตใดๆ ระหว่างที่ถูกสั่งพักใบอนุญาต ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือ หากผู้รับใบอนุญาตถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งพักใบอนุญาตไว้รอคำพิพากษาถึงที่สุดก็ได้ (มาตรา 79) ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องทำลายหรือขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ของตนที่เหลืออยู่ในส่วนที่เกินกว่าที่กฎหมายให้มีไว้ในครอบครอง หรือขายให้แก่ผู้รับอนุญาตอื่น ภายในหกสิบวัน นับแต่วันได้ทราบคำสั่งเพิกถอน เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันแต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน หากเกินกว่านั้น ให้วัตถุออกฤทธิ์ตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข หรือให้กระทรวงสาธารณสุขทำลายหรือสั่งให้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ตามมาตรา 84 กฎหมายฉบับนี้ กำหนดความรับผิดทางอาญาและโทษไว้สูงทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ เพราะเห็นว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง สำหรับผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออก ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต จะมีโทษจำคุกสูงสุดถึงยี่สิบปี ปรับสูงถึงสอง ล้านบาท ในกรณีที่เป็นการผลิตวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 และประเภท 2 และถ้ามีการผลิตเพื่อขาย มีโทษสูงขึ้น (มาตรา 115-118) ถ้าเป็นการกระทำดังกล่าวต่อวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 3และ 4 มีโทษจำคุกน้อยกว่า มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท แต่ถ้ากระทำเพื่อขายมีโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนบาท (มาตรา 119-120) ส่วนหน้าที่และความรับผิดของเภสัชกร กฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญอย่างมากที่จะให้เภสัชกรควบคุมการปฏิบัติงานตามภาระหน้าที่ในการควบคุมการผลิต การจำหน่าย โดยมีหน้าที่ควบคุมการผลิต ให้มีฉลากและเอกสารกำกับ แยกเก็บ ทำบัญชี และอยู่ควบคุมการผลิตตลอดเวลาที่เปิดทำการ ในกรณีควบคุมการผลิตของผู้รับใบอนุญาต ส่วนการควบคุมการขาย คือ การขาย การปฏิบัติเกี่ยวกับฉลาก การแยกเก็บ การทำบัญชี ของผู้ขาย และต้องอยู่ประจำควบคุมกิจการตลอดเวลาที่เปิดทำการ (มาตรา 48-51) ในกรณีที่เภสัชกรไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือละทิ้งหน้าที่ในการควบคุมกิจการ โดยไม่มีเหตุอันควร ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท มาตรา 129 ส่วนกรณีที่เภสัชกรไม่ต้องการปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ผลิตหรือสถานที่ขายยาต่อไปต้องมีหน้าที่แจ้งให้ผู้อนุญาตทราบภายในเจ็ดวัน ถ้าไม่แจ้งมีโทษปรับไมเกินสามพันบาท (มาตรา 130) ความรับผิดของผู้เสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ถ้าเป็นประเภท 1 หรือเสพวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 เกินกว่าแพทย์สั่งเพื่อการรักษา มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท (มาตรา 141) แต่มีเหตุยกเว้นความรับผิดได้ หากผู้เสพหรือ เสพและมีไว้ในการครอบครองเพื่อเสพ หรือมีไว้ในการครอบครองเพื่อขายหรือเสพเพื่อขาย เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง แล้วสมัครใจขอเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลก่อนความผิดจะปรากฏต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ และได้ปฏิบัติครบถ้วนตามระเบียบข้อบังคับของการบำบัดรักษา และได้รับคำรับรองจากผู้อำนวยการหรือหัวหน้าสถานพยาบาลนั้น ผู้นั้นจะให้พ้นจากความรับผิดทางอาญา แต่ไม่รวมถึงการกระทำความผิดหลังจากการสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา (มาตรา 155) ความรับผิดของผู้ยุยงหรือชักจูง หรือใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญบังคับ ให้บุคคลใดเสพวัตถุออกฤทธิ์ เว้นแต่เป็นแพทย์หรือทันตแพทย์ที่แนะนำให้เสพได้เพื่อการรักษา ผู้กระทำผิดดังกล่าวมีความรับผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้อาวุธ มีโทษสูงขึ้นถึงสิบปี และปรับถึงหนึ่งล้านบาท แต่ที่มีโทษสูงมากคือเป็นการกระทำต่อหญิงหรือผู้เยาว์ หรือเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงห้าล้านบาท (มาตรา 142) ที่กำหนดโทษแรงเพราะเพราะมีหลายกรณีที่มีคนนำยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทมาใช้เป็นเครื่องมือที่จะเป็นข้อต่อรองให้ผู้อื่นกระทำความผิด หรือเป็นการหลอกหลวงให้ผู้เยาว์และสตรีเสพจนมีผลต่อสุขภาพ กฎหมายฉบับนี้ กำหนดโทษในอัตราสามเท่าของความผิดที่กำหนดไว้ หากเป็นการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผลิต จำหน่ายหรือขาย หรือนำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ หรือ เป็นเพียงผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ (มาตรา 161) เพื่อป้องกันมิให้เจ้าพนักงานของรัฐเข้าไปมีส่วนกับการกระทำดังกล่าว ในความผิดที่กำหนดทั้งโทษจำคุกและโทษปรับซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20 ให้ศาลใช้ดุลพินิจเลือกลงโทษจำคุกแต่เพียงอย่างเดียวได้ แต่ในกฎหมายฉบับนี้ มาตรา 162 ให้ศาลลงโทษทั้งโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ และให้คำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษเพื่อให้ผู้กระทำความผิดเข็ดหลาบและไม่กระทำความผิดต่อไปเพื่อถูกปรับและริบทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด อย่างไรก็ดี มาตรา 163 กำหนดให้ศาลใช้ดุลพินิจการลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเฉพาะรายหากผู้นั้นไม่ได้กระทำความผิดที่มีพฤติกรรมร้ายแรงหรือคำนึงถึงฐานะของผู้กระทำความผิด ศาลมีอำนาจลดโทษจำคุกหรือโทษปรับน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายได้ และอีกกรณีหนึ่งคือ การที่ผู้กระทำได้ให้ข้อมูลสำคัญในชั้นจับกุมหรือสอบสวนเป็นการเปิดเผยถึงการกระทำความผิดเกี่ยวกับวัตถุออกฤทธิ์ของบุคคลที่เป็นเครือข่าย และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปราบปราม หรือดำเนินคดี ศาลสามารถลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำได้ (มาตรา 164) สรุป แนวทางในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดนั้นเห็นได้ชัดว่า กฎหมายเน้นการควบคุมการผลิต จำหน่ายและขาย เป็นหลัก และกำหนดโทษทางอาญาและมาตรการทางปกครองอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้ส่งเสริมหรือบังคับให้ผู้อื่นเสพ เพื่อประโยชน์ของตน ส่วนผู้เสพนั้นหากเสพภายใต้การควบคุมทางการแพทย์สามารถกระทำได้ แต่หากมีการฝ่าฝืนก็ยังเน้นการบำบัดมากกว่าการลงโทษ