ปฏิกริยาอันแข็งกร้าว จากการเมืองภาคประชาชน สารพัดกลุ่ม ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในเวลานี้ กำลังมีบทบาทและสามารถชิงพื้นที่สื่อ แซงหน้าข่าวคราว “2 พรรคใหญ่” ชิงจังหวะจัดตั้งรัฐบาล ไปอย่างสิ้นเชิง ! โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวโดยมีเป้าหมายไปสู่การโจมตีที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” เป็นเป้าหลัก โทษฐานที่จัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาไม่เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรม มีปัญหาเรื่องบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ จนมีอันต้องกลายเป็นบัตรเสีย ไม่อาจเอามานับรวมกับบัตรเลือกตั้งในประเทศได้ การชุมนุมของกลุ่มการเมืองภาคประชาชน กลางกรุง เมื่อวันที่ 31 มี.ค.เพื่อต่อต้าน และประท้วงการทำหน้าที่ของกกต.ไปจนถึงการล่าชื่อถอดถอน กกต. ถือเป็นการชุมนุมนัดแรกหลังการเลือกตั้ง กำลังถูกจับตาว่าที่สุดแล้วจะนำไปสู่การปลุกความรุนแรงรอบใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างจงใจได้หรือไม่ เพราะแม้แต่ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องออกมาปรามว่า ขอให้รับฟังการชี้แจงจากกกต.บ้างและที่สำคัญอย่าทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น “ ขอให้ฟังกกต.บ้าง ส่วนที่มีการล่ารายชื่อถอดถอนนั้นกระบวนการมันอยู่ตรงไหน ทุกอย่างผมเคยบอกไว้แล้ว การที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการทำอะไร ต้องเข้าใจระบบระเบียบข้าราชการ ขอให้เข้าใจกระบวนการยุติธรรมเขาบ้างว่าเป็นอย่างไร มีหน้าที่อย่างไร มีขั้นตอนตรงไหน คุณจะเสนออะไรก็เสนอไป แต่ขั้นตอนการพิจารณาเป็นเรื่องของศาลไม่ใช่หรือ อย่าให้มันวุ่นวายมากกว่านี้เลย ส่วนที่มีความพยายามปลุกระดมให้ออกมาเคลื่อนไหวหลังจากการเลือกตั้งนั้น ผมไม่ทราบ สื่อก็รู้อยู่แล้ว มันจะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ ก็ไม่ทราบเช่นกัน ” (1 เม.ย.2562) การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ที่ได้เปิดหน้าท้าชนกับกกต. โดยมีเป้าหมายเพื่อ กดดันไปยัง คสช.เป็นหลักนั้น ไม่สามารถมองได้เพียงด้านเดียว ! เพราะอย่าลืมว่า หลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา ในแต่ละการชุมนุมของแต่ละกลุ่มต่างๆ ไม่ได้หมายความว่า หลายสิ่งหลายอย่างจะเดินไปตามเป้าหมายแต่อย่างใด แม้วันนี้ “พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล”รองผบ.ตร.ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ จะออกมาให้สัมภาษณ์ ว่าการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ก็ตามที่ได้รับการอนุญาตแล้ว ก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย เป็นไปโดยสงบ ก็ตาม ทว่าประเด็นที่หลายฝ่ายกลับเกิดความกังวลขึ้นมาแทนที่ ว่าที่สุดแล้วหากเกมการกดดันกกต.จากทั้งพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองภาคประชาชน เดินไปจนสุดทาง นั่นคือการบีบ “7กกต.”ให้พ้นทางได้จริงๆแล้ว จะไม่ส่งผลการเมืองอยู่ในสภาพเดทล็อค ก้าวหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ยิ่งยาก ที่สุดแล้ว จะยิ่งทำให้ “รัฐบาลคสช.”ของ บิ๊กตู่ อยู่ยาวออกไป เพราะปัญหาจากการเลือกตั้ง ยังไม่คลี่คลาย ด้วยไม่มีกกต.ดำเนินการ เวลานี้ประเด็นปัญหาที่หลายต่อหลายคนแสดงความวิตกกังวล อาจไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครจะตั้งรัฐบาล กับใคร พรรคเพื่อไทย จะไปรวมกับ พรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคภูมิใจไทย จะเป็นตัวแปรหลัก หรือแม้แต่การที่พรรคพลังประชารัฐ จะยังสามารถ “รักษาดีล” กับพรรคพันธมิตรเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ยืนระยะไปจนถึงเดือนพ.ค.หรือไม่ แต่คำถามคือ รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะมีได้จริงหรือไม่ต่างหาก !