ระหว่างเกมการชิงไหว ชิงพริบในการจัดตั้งรัฐบาล ระหว่าง สองพรรคการเมืองใหญ่เคลื่อนไหวไปอย่างเข้มข้น หลายคนกลับพบสัญญาณที่น่ากังวลว่าจากนี้ไปสถานการณ์ในบ้านเมือง กำลังจะกลับเข้าสู่โหมดของความวุ่นวาย อันเกิดจาก “ชนวนเหตุ”ที่มาจากการต่อสู้ทางการเมือง “ก่อนเลือกตั้ง” จนกลายมาเป็น “ภาคต่อ” สืบเนื่องถึง “หลังเลือกตั้ง” อย่างที่เห็น!
ชัยชนะและความพ่ายแพ้จากศึกเลือกตั้ง ของแต่ละพรรคการเมือง ย่อมมีผลต่อการรวบรวมเสียงส.ส.เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะเป็นการแข่งกันเข้าเส้นชัยของทั้ง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคพลังประชารัฐ” ขั้วการเมืองที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งที่กำลังกลายเป็นชนวนปัญหาคือการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะองค์กรจัดให้มีการเลือกคั้ง ถูกโจมตีอย่างหนัก ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดการเลือกตั้ง จนมาถึงวันปิดหีบ มาถึงการเปิดเผยผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ การวินิจฉัยให้บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของนิวซีแลนด์เป็นบัตรที่ไม่สามารถนับคะแนนได้
จนทำให้ล่าสุดได้มีความเคลื่อนไหวจาก ภาคประชาชน จากสถาบันการศึกษา ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อ “ถอดถอนกกต.” !
แน่นอนว่า ความเคลื่อนไหวที่กำลังดาหน้าเข้ากดดันกกต.เวลานี้ อาจไม่ได้พุ่งเป้าไปเฉพาะ คณะกรรมการ กกต.เท่านั้น หากแต่เป้าที่แท้จริง คือการ “ล้อมกรอบ” เข้าใกล้ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือคสช.ไปจนถึงพรรคการเมืองที่ประกาศตัวสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ในฐานะ “แคนดิเดต” ของพรรคพลังประชารัฐ
สถานการณ์การเมืองหลังวันเลือกตั้ง มีความร้อนแรง และส่อเค้าลางว่าทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองภาคประชาชน เริ่มเคลื่อนไหว เพื่อตอบโต้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าไม่โปร่งใส และที่สำคัญผลการแพ้-ชนะ จำนวนตัวเลขที่นั่งส.ส.ของแต่ละพรรค ที่จะนำไปสู่การรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของแต่ละขั้วอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ หรือฝั่งตรงข้ามที่นำโดย “พรรคเพื่อไทย” ยังจะกลายเป็น สงครามภาคต่อ
ล่าสุดการออกมาส่งสัญญาณ “ปราม” จากคสช. ผ่าน “พ.อ.วินธัย สุวารี” โฆษก คสช. ที่ระบุถึงการชุมนุมรวบรวมรายชื่อเรียกร้องให้ กกต. ลาออกจากการทำหน้าที่ และสนับสนุนพรรคที่ชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล บริเวณแยกราชประสงค์และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ว่าไม่เห็นด้วย นั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มของการเปิดฉากให้พรรคการเมืองแนวร่วมกับพรรคเพื่อไทย ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และชี้เป้าถึงความเชื่อโยงระหว่าง “กองทัพ-คสช.-พรรคพลังประชารัฐ” และ “กกต.” ว่าทั้งหมดคือเนื้อเดียวกัน
การเคลื่อนไหวบนท้องถนนจากฝ่ายที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าเกิดความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ทางหนึ่งคือการแสดงออกเพื่อตอบโต้ ฟากคสช.ในฐานะผู้คุมเกมหลัก แต่อย่าลืมว่าในอีกทางหนึ่ง นี่อาจกลายเป็น “เงื่อนไข” ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง “กลางเมือง”ที่ใครเริ่มก่อน ย่อมมีสิทธิ พลาดพลั้งก่อน !