เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com คนจำนวนมากอาจตามโลกไม่ทัน เพราะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว แต่ในวิสัยทัศน์การพัฒนาไม่ว่าของสหประชาติหรือของไทยที่ไม่ต้องการ “ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ก็คงต้องช่วยกันหาวิธี “บูรณาการ” และเชื่อมสานอดีตกับปัจจุบันเพื่อวาดฝันอนาคตที่มีความสุขด้วยกันทุกคน กระแสโลกที่เปลี่ยนรวดเร็วทางเทคโนโลยีเหมือนกับจะวิ่งไปข้างหน้า แต่ดูให้ดีจะพบว่า ในเวลาเดียวกันโลกกำลังหมุนกลับ ๑.กลับไปหาต้นกำเนิดชีวิต (back to source of life) ค้นหาความหมายของชีวิตในศาสนา ปรัชญา คุณค่าความดีงาม คนต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจในโลกที่ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งให้ความรื่นเริงบรรเทิงใจ แต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้เกิดความว่างเปล่า ความโดดเดี่ยว ความเหงา ๒.กลับคืนสู่ธรรมชาติ (back to the nature) กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ระบบนิเวศ กระแสเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย พลังงานสะอาด พลังงานที่ไม่รู้หมดจากธรรมชาติ สายลม แสงแดด พลังงานชีวมวล ท่องเที่ยวนิเวศ ท่องเที่ยวเกษตร ๓.คืนสู่ความเรียบง่าย (back to basics) สู่ความพอดี คนพบว่าการกินอยู่พอดีทำให้มีความสุข ความสมดุลในการจัดการชีวิต จัดการองค์กร จัดการชุมชน ความสุขอยู่ที่การแบ่งปัน การให้ ไม่ใช่ได้แต่รับ การสะสมจนมีล้นเกิน อยู่ที่การรู้จักพอ ๔.คืนสู่รากเหง้า (back to the roots) กลับไปค้นหาภูมิปัญญาดั้งเดิม คุณค่าดีงาม ทุนทางปัญญา ทุนทางสังคมวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ นำมาฟื้นฟูอนุรักษ์ประยุกต์ผสานให้เหมาะสม เพื่อเป็นรากฐานชีวิตของวันนี้ โลกหมุนกลับ กลับไปเชื่อมอดีตกับปัจจุบันเพื่อสานอนาคต ไม่ได้ถอยหลังลงคลอง แต่ถอยไปตั้งหลัก ตั้งหลักได้ก็เดินหน้าได้ และเดินได้อย่างมั่นคงกว่าเดิม การไม่ทิ้งผู้คนไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะคนจน คนขาดโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า จึงหมายถึงการช่วยให้ผู้คนเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกับคนที่มีความรู้ มีสถานภาพเศรษฐกิจสังคมดีกว่าโดยการค้นหาสิ่งดีๆ ที่พวกเขามีอยู่ ซึ่งเป็นอะไรที่โลกแห่งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้านี้ไม่มี อยากกินไก่นาปลาแม่น้ำก็ต้องไปที่ชุมชน อยากกินผักปลอดสารเคมีต้องไปหาที่ชาวบ้านปลูกไว้กินเอง หรือปลูกแปลงเล็กๆ เหลือกินก็เอาไปขาย อยากได้ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติก็ต้องไปหาทีชุมชน กลุ่มทอผ้า วิสาหกิจชุมชน เพราะโรงงานทำผ้าแบบนั้นไม่ได้ อยากเห็นวิถีชีวิตที่สงบ ไม่รีบเร่งเรียบง่ายก็ต้องไปที่หมู่บ้านไกลๆ ไปดูบนเขาบนดอย ชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดเป็นมิตรกับธรรมชาติ พึ่งพาอาศัยกัน ไปท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์ หรือไม่ก็เข้าวัดปฏิบัติธรรม ทำสมาธิ กรรมฐาน ปล่อยวาง เกิดสติ เกิดปัญญา อาศัยความรู้และการสื่อสารสมัยใหม่ ใครๆ ก็รู้แล้วว่า การเกษตรไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือกของคนไม่มีทางไป แต่เป็นรอดของคนที่เห็นทางทำมาหากินอย่างมีความสุขบนผืนดิน มีอาหาร มีรายได้ มีความมั่นคง มีความสุขกว่าการทำงานในเมือง ในโรงงาน ในสำนักงาน ถ้ามีวิสัยทัศน์พัฒนายั่งยืนไม่ใช่ทุนนิยมเส้นตรง คงไม่เห็นแย้งกับโครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 ล้านคน พวกเขาจะไม่กลับไปแย่งอาชีพทำนา ไม่ทำให้ข้าวเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนราคาตก แต่จะทำให้ชาวไร่ชาวนาเห็นแบบอย่างของการทำการเกษตรแล้วอยู่รอด พอเพียงและมั่นคงยั่งยืน นี่คือการไม่ปล่อยทิ้งชาวบ้านไว้ข้างหลัง เดินหน้าไปสู่ 4.0 ซึ่งคงยากที่จะถึงถ้าหากคนส่วนใหญ่ ชาวไร่ชาวนายังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ไม่ใช่คิดแต่จะขับพวกเขาเข้าเมืองไปเป็นลูกจ้าง หรือเป็นเพียงแรงงานในเกษตรแปลงใหญ่ที่ยกให้นายทุน เพียงเพราะต้องการเพิ่มผลผลิตเพื่อการส่งออก คนกล้าคืนถิ่นจะทำให้เห็นว่า ทำการเกษตรในผืนดินไม่กี่ไร่ก็อยู่ได้อย่างพอเพียงและมีความสุข และพัฒนาไปสู่วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ จากเล็กไปหาใหญ่ เป็นเศรษฐกิจแบบ “บูติค” (อย่างที่ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์เรียก) เศรษฐกิจขนาดเล็กบนฐานคุณค่าท้องถิ่น ฐานวัฒนธรรมชุมชน โลกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เป็นโลกอินทรีย์ ต้องการอาหารอินทรีย์ เกษตรแปลงขนาดใหญ่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการเชิงคุณภาพของโลกได้ ศักยภาพที่แท้จริงอยู่ที่ชุมชน อยู่ที่คนเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ งานโอทอป งานผ้าพื้นเมืองในจังหวัดต่างๆ พบว่า ผ้าทอมือ ย้อมสีธรรมชาติขายหมดไม่เหลือตั้งแต่วันแรกๆ คนต่างชาติคนไทยไปกว้านซื้อจนหมดแผงหมดบู้ท แล้วรัฐบาลเห็นศักยภาพของคนเล็กๆ เหล่านี้เพียงใด ถ้าไม่อยากทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง ต้องให้โอกาสพวกเขาได้เดินไปข้างหน้าอย่างเข้าใจโลกและเข้าใจศักยภาพของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย มองเป็นบวกมากกว่าเป็นลบ เป็นโอกาสเพื่อการพัฒนาประเทศแบบหลากหลาย (diversified) ไม่ใช่มีรูปแบบเดียวแบบสี่เหลี่ยมหรือเส้นตรง แบบเอาเงินนำหน้า เอาเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัด แบบนั้นต่างหากที่ทิ้ง “ชาวบ้าน” ไว้ข้างหลัง ช่องว่างที่ถ่างออกไประหว่างคนรวยกับคนจน