แก้วกานต์ กองโชค “สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจการเงินโลกในระยะต่อไปว่ามีแนวโน้มผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และยากที่จะคาดการณ์มากขึ้น หรือ VUCA (volatility, uncertainty, complexity and ambiguity)” คำอธิบายสถานการณ์การเงินของโลกในอนาคตจาก ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการแถลง “แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2560-2562) ของธนาคารแห่งประเทศไทย” ความไม่แน่นอนดังกล่าว มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกจำนวนมาก การปรับรูปแบบของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ในโลก ความท้าทายที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ นั่นจึงทำให้ระบบการเงินของไทย จะต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ โดยมุ่งหวังที่จะวางรากฐานการทำหน้าที่ของ ธปท. เพื่อส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมั่นคง มีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั่วถึง และพร้อมปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล มีพัฒนาการที่จะตอบโจทย์ของประเทศเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ธปท.จึงวางยุทธศาสตร์ 3 ปี ไว้ 3 ด้าน 1. การรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน (stability) ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ ธปท. ธปท. จะมุ่งรักษาเสถียรภาพการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศอย่างต่อเนื่อง และผลักดันให้กลไกตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นแกนผลักดันการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ “การเตรียมเครื่องมือด้านนโยบายไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นเครื่องมือประเภทใหม่ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือปัจจุบัน เข้าใจประสิทธิภาพและกลไกการส่งผ่านของนโยบายการเงินภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปมีความสำคัญมากขึ้น เราอาจะใช้เครื่องมือเดิมแต่อาจจะต้องหาวิธีปรับให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ยกเครื่องมากขึ้น” ผู้ว่า ธปท.คนปัจจุบันอธิบายเครื่องมือการดำเนินนโยบายการเงิน หมายความว่า อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกี่ยวกับ “เครื่องมือการดำเนินนโยบายทางการเงิน” เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและกลไกการส่งผ่านที่เปลี่ยนแปลง 2. การพัฒนาระบบการเงิน (development) ดร.วิรไท บอกว่า ธปท.จะส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงิน (รวมทั้ง FinTech) มีการแข่งขัน สร้างนวัตกรรม และบริการทางการเงินดิจิทัลที่ครบวงจร รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของผู้บริการเฉพาะทาง (niche players) เพื่อลดช่องว่างของการเข้าถึงบริการทางการเงิน แปลความหมายอีกครั้งหนึ่งก็คือ การใช้เน้นเรื่องเทคโนโลยีทางการเงินมากขึ้น ในอนาคตข้างหน้า พนักงานธนาคารคงลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ชนิดที่สาขาของอาจจะมีเพียง “ผู้จัดการสาขาเพียงคนเดียว” ก็เป็นได้ 3. การสร้างความเข้มแข็งขององค์กร (internal excellence) เพื่อขับเคลื่อนแผน ยุทธศาสตร์นี้ให้สำเร็จ ธปท.จำเป็นต้องยกระดับองค์กรให้ทันสมัย คล่องตัว ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาใน 5 ด้าน หลัก ได้แก่ 1) ระบบข้อมูลและการวิเคราะห์โดยเพิ่มศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลระดับจุลภาค (data analytics) และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีความถี่สูงจากหลากหลายแหล่งมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลระดับจุลภาค หรือ big data ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดนโยบายมหภาคมากขึ้น (Microfoundation) 2) ความเป็นเลิศด้านวิจัย ส่งเสริมให้มีงานวิจัยเชิงลึกทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง 3) ศักยภาพบุคลากร เสริมสร้างให้พนักงานมีศักยภาพสูงและมีความหลากหลาย ควบคู่กับการบริหารทรัพยากรให้ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อรองรับภารกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในสาขา data scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) 4) ศักยภาพองค์กร โดยจะปรับองค์กรให้มีความยืดหยุ่น กระบวนการทำงานคล่องตัว ทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถด้านไอที 5) เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง โดยเปิดรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน เสริมสร้างความสัมพันธ์และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารกับสาธารณชนให้เข้าใจง่ายและรวดเร็ว โดยสรุปแล้ว ดูเหมือนว่า ธปท.กำลังต้องการปรับโครงสร้างการทำงานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของโลกและสังคมไทย !!!