เกมชิงธงจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคพลังประชารัฐ” ยังคงดำเนินไปด้วยความเข้มข้น ทุกเวลา ทุกนาทีล้วนแล้วแต่มีค่า มีความหมาย เช่นเดียวกับการที่ “พรรคขนาดเล็ก” มีที่นั่งส.ส.ไม่ถึง 5 ที่นั่ง ก็กลายเป็น “เงื่อนไข” ที่มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล ของทั้งสองขั้วการเมืองทั้งสิ้น ! พรรคเพื่อไทยที่วันนี้มีที่นั่งส.ส.อยู่ในมือเป็นอันดับ 1 คือ137 เสียง ได้ใช้วิธี “เดินเกมเร็ว” เพื่อจับมือ “พรรคแนวร่วม” ประกาศจัดตั้งรัฐบาล พร้อมทั้งยังมีการลงนามสัตยาบันเป็นลายมือชื่อเอาไว้เป็นหลักฐานด้วยกันทั้งสิ้น รวม 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชน ประชาชาติ รวมเบ็ดเสร็จทั้งสิ้นอยู่ที่ 249 เสียง เนื่องจาก “พรรคเศรษฐกิจใหม่” ที่มี มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรค ซึ่งมีเสียงว่าที่ส.ส.อยู่ในมือ6 ที่นั่ง ไม่ได้ไปปรากฎตัวร่วมการแถลงข่าว อีกทั้งยังไม่มีการส่งตัวแทนลงนามในสัตยาบัน ร่วมกับอีก6 พรรคแต่อย่างใด แน่นอนว่าเมื่อฟากพรรคเพื่อไทย ขยับ ! ทุกสายตาจึงต้องเพ่งมองมายัง “พรรคพลังประชารัฐ” ในฐานะพรรคอันดับ 2 ที่มีส.ส.เขต 97 ที่นั่ง มีเสียงป๊อปปูลาโหวตทั้งสิ้นกว่า 7ล้านคะแนน จะเดินเกมต่อไปอย่างไร ยิ่งเมื่อพรรคเพื่อไทยยกเอา “เสียงข้างมาก” จากการรวบรวมที่นั่งส.ส.ทั้ง 7 พรรคที่อ้างว่าพร้อมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันโดยไม่ไร้เงามิ่งขวัญ จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ตัวเลข255 เสียง ยิ่งกลายเป็น “แรงกดดัน” สำหรับฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ไม่น้อย เนื่องจากเมื่อนำตัวเลขเก้าอี้ส.ส.ของฝ่ายที่หนุน “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มารวมกันแล้วก็ยังต้องยอมรับว่า “เป็นรอง” เมื่อพลังพลังประชารัฐ มี 119 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 51เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 55 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา11 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 3 พรรคพลังท้องถิ่นไท 2 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5ที่นั่งพรรครักษ์ผืนป่า 1 ที่นั่ง รวมทั้งสิ้นได้แค่ 250 เสียง ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่จะพบว่าเหตุใด พรรคเพื่อไทย จึงชู “255 ที่นั่ง” ชัยชนะจากสนามเลือกตั้งเพื่อหักล้าง กรณีที่พรรคพลังประชารัฐ ชูคะแนนป๊อปปูล่าโหวตที่พรรคได้รับทั้งสิ้นกว่า 7 คะแนน ว่ามีความชอบธรรมมากพอที่จะตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของทั้งฟากพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ในท่ามกลาง “ความไม่ชัดเจน” จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิบัติการเชิงจิตวิทยา เพื่อ “ข่มขวัญคู่ต่อสู้” ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อย่าลืมว่าในระหว่างที่ต่างฝ่ายต่างกำลังเล่นเกม “ชักคะเย่อ” ดึงพรรคการเมืองต่างๆให้เข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลเช่นนี้นั้นโอกาสที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ย่อมมีขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะในเมื่อตัวเลขส.ส.ที่ฝ่าด่านเข้าวิน ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังอยู่ในสภาพ “ไม่นิ่ง” อีกทั้งยังมีหลายเงื่อนไข หลากปัจจัยที่ทำให้สองขั้วการเมือง ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ ต้องชิงไหว ชิงพริบ เพราะเกมหลังเลือกตั้งนั้นยังอีกยาวไกล และดุเดือดมากกว่าก่อนวันเลือกตั้งหลายเท่าเลยทีเดียว !