หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป ยังคงมีร่องรอยของความขัดแย้ง และอาการที่หลายคนอารมณ์ค้างกันอยู่ ยิ่งปรากฎการณ์ในการหาเสียงช่วง 2 สัปดาห์ก่อนโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนั้น กระแสการเมืองเลือกข้าง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลคะแนนเลือกตั้งเกิดปรากฎการณ์แลนด์สไลด์ ทำให้พรรคการเมืองเก่าแก่บางพรรคต้องพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ และพรรคการเมืองใหม่แจ้งเกิด เริ่มมีเสียงพูดถึงการทวงความรัก ความสามัคคี ปรองดองของคนในชาติเกิดขึ้น แม้จะไม่ดังนัก แต่ก็เชื่อว่าความเขม็งเกลียวทางการเมืองที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนอาจหลงลืมคำว่าปรองดองไป และมองไม่เห็นหนทางที่จะทำให้สังคมไทยกลับมาสมานฉันท์กันดังเดิม กระนั้นในหลักพระพุทธศาสนา มีธรรมที่นำไปสู่หนทางปรองดองอยู่ โดย "พระราชญาณวิสิฐ (หลวงป๋า)" มีหลักการปกครองและการบริหารที่ดี 6 ประการ ดังนี้ 1.หลักความถูกต้อง กล่าวคือ ผู้นำหรือผู้ปกครอง/ผู้บริหารหมู่คณะทุกระดับ พึงปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลัก "ธรรม" และเว้นขาดจากการปฏิบัติ "อธรรม" ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 2.หลักความเหมาะสม รู้จักยืดหยุ่น ผ่อนหนัก ผ่อนเบา โดยไม่เสียหลักการ โดยอาศัยหลักสัปปุริสธรรม ๗ คือ ความเป็นผู้รู้จักพิจารณาเหตุ สังเกตผล ความเป็นผู้รู้จักบุคคล รู้จักฐานะของตน รู้จักประชุมชน รู้จักกาลเวลาที่เหมาะสม และรู้จักประมาณในการบริโภค ใช้สอยทรัพย์ ตลอดทั้งงบประมาณของแผ่นดินให้ได้ประโยชน์คุ้มค่า ไม่สูญเปล่า ฯลฯ เป็นต้น 3.หลักความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ด้วยธรรมปฏิบัติดังกล่าว และ/หรือ การบริหารกิจการ ตลอดทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยจิตใจซื่อ มือสะอาด โปร่งใส ตรวจสอบได้ 4.หลักความยุติธรรม กล่าวคือ ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเที่ยงธรรม ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ชื่อว่า "ยุติธรรม" ให้เสมอหน้ากัน ไม่เลือกปฏิบัติด้วยความลำเอียง หรือ อคติ 4 5.หลักพรหมวิหารธรรม (คุณธรรมเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่) คือ ปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตาพรหมวิหาร ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข กรุณาพรหมวิหาร ปรารถนาที่จะให้ผู้ที่มีทุกข์ให้พ้นทุกข์ มุทิตาพรหมวิหาร พลอยยินดีที่ผู้อื่นได้ดีมีสุข ไม่อิจฉาริษยากัน และอุเบกขาพรหมวิหาร มีใจมัธยัสถ์เป็นกลาง วางเฉย เมื่อผู้อื่นถึงซึ่งความทุกข์หรือความวิบัติ อันเราช่วยอะไรมิได้ และไม่ดูถูก เหยียด ซ้ำเติม 6.หลักความเสียสละ ผู้นำคน หรือ นักปกครอง/นักบริหาร เป็นผู้มีอำนาจเหนือผู้อื่น พึงลดมานะ ละทิฏฐิ ด้วยความเสียสละความสุขส่วนตน และสละความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์สุขของหมู่คณะ และ/หรือ เพื่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม ด้วยคุณธรรมของผู้นำ และประชาชนทุกหมู่เหล่า ดังที่กล่าวนี้ ประชาชนก็จะอยู่ร่วมกันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ต้องอยู่ร้อนนอนทุกข์ สมดังพระพุทธภาษิตมีมาในธัมมิกสูตร (องฺ. จตุกฺก. 21/70/ 98-99) มีความว่า "ในหมู่มนุษย์ ก็เหมือนกับฝูงโค ผู้ใดได้รับสมมุติให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนที่เหลือก็ย่อมประพฤติไม่เป็นธรรมตามโดยแท้ ราษฎรย่อมอยู่กันอย่างเป็นทุกข์ทั่วหน้า ถ้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม" เราคาดหวังว่าหากผู้บริหารนำหลัก 6 ประการมาปฏิบัติได้ดังนี้ ก็จะสามารถนำความปรองดองสมานฉันท์กลับคืนมาสู่สังคมไทย