ขณะที่สองพรรคใหญ่ ต่างเคลื่อนไหวเพื่อชิงการนำในการจัดตั้ง “รัฐบาลใหม่” หลังการเลือกตั้ง กันอย่างเข้มข้น กลับพบว่าประเด็นปัญหาที่รออยู่เบื้องหน้าคือ คำถาม และความห่วงใยถึง “เสถียรภาพ” และ “ความมั่นคง” จะมีเข้มแข็งมากพอที่จะประคองรัฐบาลใหม่ให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ยาวนานแค่ไหน หรือต้องอยู่กันไปชนิดที่เรียกว่า ลุ้นระทึกกันไปตลอดเทอม !?
ตัวเลขส.ส.เขตเลือกตั้งที่ปรากฎชัดเจนภายหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้จะยังไม่เป็นทางการแต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกพรรคจะต้อง รอโดยไม่มีการเปิดเจรจากันแต่อย่างใด เพราะที่นั่งส.ส.ของทุกพรรค ย่อมมีความหมาย โดยเฉพาะในจังหวะของการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีพรรคใด พรรคหนึ่งชนะได้ตามเป้าหมายที่ตนเองได้วางกันเอาไว้ทั้งสิ้น
พรรคเพื่อไทย ได้ 137 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ ได้ 97 ที่นั่ง ภูมิใจไทย ได้39 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 33 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ ได้30 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา ได้6 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ ได้6 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทยได้ 1 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา ได้1 ที่นั่ง
แน่นอนว่าตัวเลขเหล่านี้ คือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การจับขั้วในการนจัดตั้งรัฐบาล เดินไปด้วยความราบรื่นหรือมีอันต้องสะดุด เกิดอุปสรรคตามมาด้วยกันได้ทั้งสิ้น เพราะวันนี้ ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงจังหวะเพื่อเร่งเดินเกมไม่ต่างกัน ยิ่งเมื่อล่าสุดมีการคิดคำนวน “คณิตศาสตร์การเมือง”กันออกมาแล้วพบว่า ขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทย และขั้วที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ต่างอยู่ในสภาพที่ “ปริ่มน้ำ” เช่นเดียวกัน
การออกมาให้สัมภาษณ์สื่อของ “มือกฎหมายรัฐบาล” อย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ต่อกรณีที่ต่างฝ่ายต่างอ้างถึงตัวเลขในการจัดตั้งรัฐบาลโดย พรรคเพื่อไทยชูตัวเลข ส.ส. ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ อ้างถึงป๊อปปูล่าโหวต ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องจะไปจัดการ
“คิดให้มันมากมันก็เลยสลับซับซ้อน ถ้าคิดให้มันง่ายคือว่าใครจะทำอย่างไรก็ทำไป สุดท้ายก็ไปอยู่ที่การเสนอชื่อนายกฯ ต่อสภาฯ เมื่อประธานสภาฯนัด ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ พรรคไหนเสียงมากสุดก็เสนอชื่อก่อนก็แล้วกัน จะเอาใครเป็นนายกฯ นอกนั้นก็พูดกันไปต่างคนต่างพูดต่างคนต่างทำ”อีกทั้งรองนายกฯวิษณุ ยังสำทับด้วยว่าเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับฝีมือ
ปัญหาที่กำลังกลายเป็น ข้อขบคิดสำหรับขั้วการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือความเข้มแข็ง และการมีเสถียรภาพของการดำรงอยู่ต่างหาก คือปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญ หลังเสร็จศึกเลือกตั้งหรือแม้แต่การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสามารถจัดตั้งรัฐบาล เข้าสู่อำนาจฝ่ายบริหาร ต่างหาก
เนื่องจากปัญหาความวุ่นวาย ยุ่งยากที่ยังไม่จบสิ้น หลังการปิดหีบเลือกตั้งเมื่อเย็นวันที่ 24มี.ค.เป็นต้นมา ไม่ได้อยู่ที่การวิ่งจับขั้วตั้งรัฐบาลผสมของสองขั้วการเมืองระหว่างเพื่อไทยกับ พลังประชารัฐเท่านั้น หากแต่เวลานี้ คณะกรรมการกกต. กำลังอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบาก อย่างที่สุด !
เมื่อการทำงานของกกต.ในฐานะองค์กรจัดการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป กำลังถูกสังคมตั้งคำถามไปจนถึงการล่าชื่อเพื่อถอดถอนกกต.
ความร้อนแรงทางการเมืองหลังเลือกตั้งดูเหมือนว่ากำลังจะทะลุจุดเดือดมากขึ้นทุกขณะ เมื่อทั้งพรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ต่างอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ถอยไม่ได้”ด้วยกันทั้งคู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ คสช.เองด้วยแล้ว เกมนี้ ต้องลบคำว่า “แพ้” ออกจากสารบบเท่านั้น !