สถานการณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ ดูจะไม่สู้ดีนัก เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคอื่น ๆ เพราะได้รับบาดเจ็บ มีแผลลึกมากกว่าใครเพื่อน เพราะความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ยังกลายเป็น "ชนวน" ที่กำลังปลุกปัญหาและความขัดแย้งที่ "คนในพรรค" เคยบาดหมางกันเองให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง !
ตัวเลขที่นั่งส.ส.จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ประชาธิปัตย์กลายเป็น "พรรคต่ำร้อย" ไม่เพียงแต่เขตเลือกตั้งระดับแม่เหล็ก อย่าง จ.พิษณุโลก ในเขตที่ 5 ซึ่ง "หมอวรงค์" น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.หลายสมัย ไม่สามารถต้านทานความแรงจากผู้สมัครหน้าใหม่ ของพรรคอนาคตใหม่ ปดิพัทธ์ สันติภาดา เอาไว้ได้เท่านั้น ยังส่งผลให้ หมอวรงค์ ประกาศชูปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง พร้อมทั้งชี้นิ้วที่ยัง "กัปตัน" ที่ชื่อว่า "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่บัดนี้ได้กลายเป็น "อดีตหัวหน้าพรรค" วางเป็นผู้ที่วางยุทธศาสตร์การต่อสู้ผิดพลาด อย่างมหันต์ อีกด้วยต่างหาก
อาฟเตอร์ช็อก ที่เกิดขึ้นหลังปิดหีบเลือกตั้ง ยังไม่ใช่เฉพาะที่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น เพราะลึกๆแล้ว พรรคใหญ่อย่าง "เพื่อไทย"เองก็กำลังเผชิญหน้ากับ "มรสุมลูกใหญ่" เพราะระดับ แกนนำของพรรค อย่าง "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคและส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเอง ก็ไม่สามารถฝ่าสนามเข้าสภาผู้แทนราษฎร เข้าไปได้ เมื่อพรรคเพื่อไทย จะไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
อีกทั้งพรรคเพื่อไทยยังเจอกับปัญหาใหญ่ เมื่อครั้งที่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกยุบพรรค จนทำให้ "แผนการเล่น" แผนเดิมที่วางเอาไว้ กระทบอย่างจัง ส่งผลให้พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคการเมืองเจนเนอร์เรชั่นที่ 3 ของพรรคไทยรักไทย ที่เคยรุ่งเรือง กลับต้องมารับสภาพการเป็นพรรคการเมืองที่ได้ส.ส.ไม่ถึง150 ที่นั่ง ถือว่าเป็นยุคที่ตกต่ำของพรรคการเมืองในมือ "คนที่ต่างประเทศ" อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี เมื่อวันนี้ หลายต่อหลายพรรค ต่างเจอกับสถานการณ์ที่สร้างความแปลกประหลาดใจ พากันช็อคไปตามๆกัน ไม่เพียงแต่ "ที่นั่งส.ส."จะลดลงเท่านั้น แต่พื้นที่ฐานเสียงเดิม ก็ไม่อาจรักษาเอาไว้ได้ กลับต้อง พ่ายแพ้ให้กับพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ไม่เคยมีผลงาน อย่าง "พรรคอนาคตใหม่" มาก่อน ยิ่งเป็นภาพสะท้อน มุมมองของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์ได้ชัดเจนมากขึ้น ว่าเมื่อวันนี้โลกเปลี่ยน นักการเมืองต้องปรับตัว เพราะประชาชนย่อมมองหา "ทางเลือกใหม่" ได้เสมอ
จากตัวเลขส.ส.ของพรรคการเมืองใหญ่ แต่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกัน คือ พรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย ในเวลานี้ ได้ส่งผลต่อไปยังการวิ่งจับขั้วรัฐบาลไม่น้อย !
เพราะถึงแม้ในความเป็นจริงแล้ว จะมีการ "จับขั้ว" เพื่อจัดตั้งรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งแล้วก็ตามแต่ก็เป็นการวางแผนการเล่น ภายใต้ความเชื่อมั่น ความมั่นใจว่า พรรคของตนเองจะสามารถกวาดที่นั่งส.ส.ได้ในตัวเลขที่ทะยานสูงขึ้น
แต่เมื่อวันนี้ แม้พรรคพลังประชารัฐ จะวิ่งจับขั้ว ผนึกกำลังได้กับพรรคพันธมิตร ที่ต่างหารือกันเอาไว้อย่างหลวมๆก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การเป็นรัฐบาลด้วยเสียง "ปริ่มน้ำ" ต่างหากที่จะกลายเป็น "เงื่อนไข" ของการดำรงอยู่สำหรับทุกพรรค ทุกขั้ว ซึ่งแกนนำของแต่ละพรรคที่พากันจับขั้วตั้งรัฐบาลในปีกของพรรคพลังประชารัฐ ต่างหวั่นไหวอยู่ลึกๆว่าการเป็นรัฐบาลที่ยืนอยู่บนตัวเลขหมิ่นเหม่ เช่นนี้ หลายคนเริ่มหวั่นไหวแล้วว่า อายุรัฐบาลจะยืนยาวไปได้อีกนานแค่ไหน !?