หลังจากเวลา 17.00 น.ของวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั่วไป ได้ยุติลงไปเรียบร้อยแล้วอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะเป็นเรื่องของการจัดตั้ง "รัฐบาลใหม่" ที่มาจากการเลือกตั้ง ตามกระบวนขั้นตอนต่อไป พร้อมๆกันนั้น ยังต้องไม่ลืมว่าประเด็นการร้องเรียน ที่จะหลั่งไหลไปยัง "7 เสือกกต."ให้ต้องพิจารณาวินิจฉัย ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งยังเป็นอีกหนึ่ง "เงื่อนไข" ที่ไม่ควรมองข้าม !
การออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้านหนึ่งถือเป็นการทำตามสัญญาจาก"คณะรักษาความสงบแห่งชาติ"หรือ คสช. ที่ยืนยันว่าจะคืนประชาธิปไตยให้กับบ้านเมือง แม้หลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา การเลือกตั้งจะถูกขยับ วัน เวลา ออกไปก็ ตามแต่สุดท้ายแล้ว การเลือกตั้งก็เกิดขึ้นได้ในรอบ 8 ปี นับจากปี 2554
และที่น่าสนใจไปกว่านั้น นั่นคือการเลือกตั้งครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนมีความตื่นตัว ในการออกไปใช้สิทธิอย่างคับคั่ง ตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งความตื่นตัวของประชาชน ตลอดจนตัวเลขผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล้วนแล้วแต่เป็น "คำตอบ" ให้กับ"ฝ่ายการเมือง" ได้ฉุกคิดว่า วันนี้การเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน ทุกความเคลื่อนไหวของ "นักการเมือง" ล้วนแล้วแต่อยู่ในสายตาของประชาชน
ทั้งนี้การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งนั้นมีความพยายามที่จะ "ส่งสัญญาณ"กันมาตั้งแต่ก่อนวันหย่อนบัตรด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคใหญ่ หรือพรรคเล็ก ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ใน "สูตรคณิตศาสตร์การเมือง"ด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกคะแนนล้วนมีความหมาย
การให้สัมภาษณ์ของ "วิษณุเครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี ที่ตอบคำถามสื่อ ต่อกรณีการตั้งรัฐบาลที่ว่าตามหลักการแล้ว พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 จะมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อนใช่หรือไม่
"มันไม่มีหลักอะไรแล้ว เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนด ก็ต้องใช้สถานการณ์หลายอย่างเข้ามาช่วยกัน"
เมื่อสื่อถามย้ำว่า ตอนนี้ไม่ต้องใช้หลักอะไร เอาบ้านเมืองก่อนใช่หรือไม่ รองนายกฯวิษณุ ระบุว่าไม่ใช่ ต้องใช้หลักอยู่ดีใครจะจับกลุ่มกันก่อน ก็จับกันไป แต่พอถึงเวลาเข้าในสภาแล้ว ก็ต้องมาพูดกันแล้วว่าโอกาสจะเป็นอย่างไร "วันนี้หลังการเลือกตั้งจะเจอด่านแรกคือการเสนอชื่อนายกฯ ซึ่งส่วนตัวไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวพันกับพรรคใดบ้าง แต่ทุกพรรคได้มีการพูดคุยกันแล้ว ผมขอไม่ลงไปในส่วนที่เขาปฏิบัติ"
สิ่งที่วิษณุ แจงกับสื่อถือเป็นประเด็นที่ต้องตามติดกันต่อไปเพราะ "ตัวเลข" ที่แต่ละพรรคจะได้ในการเลือกตั้งรอบนี้ ยังไม่ใช่ "คำตอบสุดท้าย"แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีความสลักสำคัญแต่อย่างใด
เพราะสำหรับพรรคการเมืองที่ยืนประจันหน้ากับ คสช. และพรรคการเมืองที่ประกาศหนุน "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น "พรรคเพื่อไทย"เองหรือพรรคแนวร่วมการได้มาซึ่งตัวเลข ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ คือ "แรงกดดัน" ที่จะสามารถใช้กระแทกไปยัง คสช.และพรรคพันธมิตร
ขณะที่พรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ที่ได้ประกาศตัวเป็น"แกนนำตั้งรัฐบาล" เล่นเกมชนิดทิ้งไพ่ใบสำคัญ ด้วยการ "เมินไมตรี"จาก คสช. และเพื่อไทย เพื่อหวังเรียกคะแนนช่วง 100 เมตรสุดท้ายก่อนหน้านี้การได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภาฯมากเท่าใด ยิ่งปลอดภัยทั้งสถานการณ์ของพรรค และ "เก้าอี้หัวหน้าพรรค"ของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"มากเท่านั้น