เหลือเวลาให้ทุกฝ่าย ทั้งโหวตเตอร์คือประชาชนผู้มีสิทธิ์ใช้เสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไปจนถึง "ผู้สมัคร" จากแต่ละพรรคการเมือง ได้พอหายใจหายคอกันอีก 1 วัน ก่อนจะถึงวันออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 24มี.ค.นี้ แต่ดูเหมือนว่าบรรยากาศทางการเมือง ยังเข้มข้นกันจนนาทีสุดท้าย !
ขณะที่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯของ "พรรคพลังประชารัฐ" กำลังเดินสายพบปะพี่น้องประชาชน เพื่อหวังกวาดทุกคะแนนเสียง เพราะไม่ว่าที่สุดแล้ว จะได้เห็นพล.อ.ประยุทธ์ ปรากฎตัวบนเวทีปราศรัย ที่สนามเทพหัสดิน ร่วมกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐในวันสุดท้ายหรือไม่ก็ตาม แต่ในเบื้องลึกแล้ว "ภารกิจ" ของพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งเครือข่ายแนวร่วม ได้เดินหน้า ทำงานเชิงลึก และภาพรวมกันมาพักใหญ่
สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้วกลับน่าสนใจว่า ในช่วงทิ้งโค้งสุดท้าย บรรยากาศกลับเป็นไปด้วยความเงียบจนผิดปกติ จนมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่ "พรรคไทยรักษาชาติ" ถูกยุบพรรค จนส่งผลกระทบต่อ 100 เขตเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยที่ "เว้นที่" กันเอาไว้ "คนที่ต่างประเทศ" เองก็แทบไม่มีความหวังว่า "ชัยชนะ" จะตกเป็นของเพื่อไทย ทั้งที่เป็นพรรคอันดับหนึ่ง
ยิ่งเมื่อวันนี้ กระแสของพรรคอนาคตใหม่ เข้าวินมาแรง ว่ากันว่า "กระแส" ดีวันดีคืน จากเดิมที่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรค ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะทำคะแนนเพื่อหวังส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ทำไปทำมา กลับมีสัญญาณที่ค่อนข้างเป็นบวกว่า พรรคอนาคตใหม่อาจจะได้ส.ส.เขตอีกด้วย
มิหนำซ้ำ เมื่อภายหลังจากที่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกยุบคะแนนของอดีตผู้สมัครของพรรคยังสวิงไปยัง พรรคอนาคตใหม่ คล้ายกับว่า มีประชาชนบางคนบางกลุ่ม เริ่มตัดสินใจเลือกได้ง่ายมากขึ้น
นั่นย่อมทำให้สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย "ตกเป็นรอง" เพราะนอกจากเขตเลือกตั้งที่เว้นว่างเอาไว้100 เขตเลือกตั้งจะกระทบ เพราะไม่มีพรรคไทยรักษาชาติแล้ว คะแนนยังไปเทให้กับพรรคอนาคตใหม่ ความหวังที่พรรคเพื่อไทยต้องการกวาดส.ส.ชนิดเอาชนะอย่างถล่มทลาย ดูจะเป็นไปได้ยากเย็นมากขึ้น
ทั้งนี้มีรายงานว่า พรรคเพื่อไทยจะใช้วิธีการยึดตัวเลขที่นั่งเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด นั่นคือจำนวนตัวเลข 203 คน เพราะพรรคไม่อาจคาดหวังหรือมั่นใจได้ว่าจะคอนโทรลพรรคอนาคตใหม่ ได้มากน้อยแค่ไหน หากต้องมีการจับมือกันขึ้นมาจริง หลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการผนึกกำลังเพื่อตั้งรัฐบาล หรือแม้แต่การเป็น "ฝ่ายค้าน" ร่วมกันก็ตาม
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์พรรคอันดับสองรองจากพรรคเพื่อไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าหนักใจไม่น้อย ทั้งจากกรณีที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ประกาศชัดเจนว่าไม่หนุนพล.อ.ประยุทธ์ ก็เกิดกระแสตีกลับ จนทำให้แม้แต่คนในพรรคเองก็ยังหนักใจว่าหากเป็นเช่นนั้นประชาธิปัตย์จะไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับใคร
และที่น่าหนักใจไปกว่านั้นคือการที่ประชาธิปัตย์ ยังไม่ได้เดินไปสู่จุดที่สามารถวางใจได้ว่า พรรคจะไม่กลายเป็นพรรคที่ "ต่ำร้อย" หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง โอกาสในการต่อรองของประชาธิปัตย์ จะยิ่งอยูในภาวะติดหล่ม
ประเด็นที่สร้างความหวั่นไหว และหวาดวิตก ก่อนการเลือกตั้ง น่าสนใจว่ายังกลับมาที่ "ข่าวลือ" ที่ว่าจะมี "ปฏิวัติ" เกิดเป็นกระแสแพร่กระจายไปทั่ว จนทำให้ผู้สมัคร ตลอดจนหลายพรรคการเมืองต่างพากันเช็คข่าวให้จ้าละหวั่น ว่าที่สุดแล้ว หลังการเลือกตั้ง ทิศทางการเมืองจะเดินหน้าหรือถอยหลังกันอย่างไร ?!