วัฒนธรรมไม่ใช่มรดกที่จะต้องสืบทอดและรักษาไว้แบบรักษาของเก่า  เก็บเข้าพิพิธภัณฑ์  นั่นเป็นโบราณคดี  ไม่ใช่วัฒนธรรม  เพราะวัฒนธรรมนั้นจะต้องเจริญเติบโต  ต้องแตกกิ่งก้านสาขาเสมอไป  มีการเกิด  มีการดับสูญ             “ถ้าเราจะสืบทอดวัฒนธรรม  ผมอยากจะให้เข้าใจว่าไม่ใช่การสืบมรดก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย  มีอยู่เท่าไหร่ก็สืบกันไปอย่างนั้นอย่าให้สูญหาย  เป็นไปไม่ได้  ทำอย่างนั้นเป็นการเก็บของเข้าพิพิธภัณฑ์......  วัฒนธรรมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง  มีการเจริญเติบโต  ต้องมีการแตกกิ่งก้านสาขาเสมอไป  จะให้คงที่ไม่ได้  เพราะฉะนั้นของในเมืองไทยหลายสิ่งหลายอย่างแต่ก่อนถือว่าเป็นวัฒนธรรมไทย  แล้วมีอยู่เป็นประจำ   ยกตัวอย่างที่เห็นง่าย ๆ อย่างเช่น  การแสดงประจำ  อย่างหนังใหญ่ หุ่น เหล่านี้เป็นต้น   เดี๋ยวนี้เรียกว่าสูญ  ถึงจะมีอยู่  ก็เหลือน้อยจนไม่สามารถจะคงทนต่อกาลเวลาไปได้   ชีวิตใกล้ฝั่งเต็มทีแล้ว  ในที่สุดก็ต้องสูญ   ที่เป็นเช่นนี้เพราะสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป  กาลสมัยเปลี่ยนแปลงไป  การแสดงแบบหนังใหญ่เป็นการแสดงที่ต้องใช้เวลามาก  เป็นการแสดงที่ต้องนั่งดูกันทั้งคืนทั้งวัน  คนสมัยปัจจุบันไม่มีเวลาจะไปแสดงอย่างนั้น....             การจะสืบทอดวัฒนธรรมนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และเวลา   เราต้องมีเวลารักษาด้วย  ในส่วนของสถานการณ์นั้น  ยกตัวอย่างเช่น  เมืองไทยสมัยก่อนอุดมสมบูรณ์มาก  เวลาจะจัดสำรับคับค้อนต้องตั้งให้มันล้นชามล้นถ้วยตักเท่าไรไม่หมด  ‘ไม่งั้น  ไม่มีวัฒนธรรม   ใครเห็นเข้าดูถูกได้’  ในส่วนของเวลา  แต่ก่อนเรามีเวลามาก  ไม่รีบเร่งเหมือนเดี๋ยวนี้  ก็มีเวลาจัดอาหารให้สวยงาม วิจิตรพิสดาร หรืออย่างวรรณคดี   การจะสืบทอดก็ต้องมีเวลา  ‘ผมอยากจะสร้างปัญหาให้เกิด  คนทุกวันนี้มีเวลาอ่านวรรณคดีหรือไม่’  ไม่ต้องถึงวรรณคดี   แม้แต่ข่าวสารที่เข้ามาถึงตัวทุกวันนี้  มีเวลาอ่านหรือไม่ลาจะไปแสดงอย่างนั้น” (คึกฤทธิ์  ปราโมช)           แม้ภาษา  ก็ยังต้องเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ           “มีศัพท์เกิดขึ้นใหม่  มีอะไร ๆ ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ท่านเดือดร้อน  แต่ผมกลับไม่เห็นด้วย  ตราบใดที่มันเป็นภาษาไทย  มันก็เป็นวัฒนธรรม  เป็นสิ่งที่เรารักษา  เป็นสิ่งที่เราสืบทอด  ศัพท์แสงจะเปลี่ยนไปเป็นเรื่องธรรมดา   มันเปลี่ยนมากี่ร้อยปีแล้ว   ถ้าไปเอาภาษาไทยสมัยสุโขทัยมาเทียบกับภาษาไทยปัจจุบันที่ท่านผู้ใหญ่ ท่านผู้รู้ ท่านถือว่าถูกต้อง  มันก็ไม่เหมือนกัน”           ยกเว้นแต่เรื่องการพูดราชาศัพท์  เป็นรูปแบบอย่างหนึ่งของการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมที่ไม่ควรให้ผิดพลาด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทีทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก  พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  ผู้บริหารประเทศ  ต้องรู้ราชาศัพท์  เมื่อมีโอกาสต้องเข้าเฝ้าฯ  เจ้าหน้าที่ทำงานสำนักพระราชวังไม่รู้ราชาศัพท์  คบไม่ได้  คือไม่รู้จักหน้าที่ของตน   ไม่ใช่เรื่องประเพณีสูงต่ำอะไร           ราชาศัพท์นั้น  ผมกลับเห็นว่า  คนที่มีหน้าที่จะต้องใช้เห็นจะต้องรู้........ ถ้าไม่รู้อย่าใช้ดีกว่า   ถ้าใช้ควรใช้ให้ถูก”  (จากหนังสือ “คึกฤทธิ์วินิจฉัย  สุนทรียวินิจฉัย”)