เมื่อเกมได้ถูกกำหนดเอาไว้แล้วว่าใครจะต้องทำหน้าที่เปิดเกมบุก เปิดเกมรุก และใครคือ “เพลย์เมกเกอร์” ตัวทำเกม โดยเฉพาะในห้วงเวลาสำคัญ “7วัน”ก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้
ด้วยเหตุนี้ คงไม่ต้องแปลกใจที่จะพบว่าเหตุใด “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยังสวมหมวก “ใบที่สาม” ในฐานะ “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคพลังประชารัฐ จะเล่นในเกมที่ตัวเองเป็นฝ่ายกำหนดเท่านั้น
เพราะกุนซือและตัวพล.อ.ประยุทธ์ ย่อมอ่านเกมได้ออกว่า สนามไหนควรที่จะโดดลงไปเล่น หรือเวทีไหนที่ ถือว่า “คุ้มค่าต่อการลงทุน” โดยเฉพาะในจังหวะที่เวลาเริ่มนับถอยหลัง ไปสู่วันเลือกตั้ง กระชั้นเข้ามาทุกที ทุกนาที ทุกชั่วโมง จึงมีค่าที่พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะเพลย์เมกเกอร์ ในศึกเลือกตั้งรอบนี้ต้องเลือก “เดินสายหาเสียง” ในวาระของการลงพื้นที่ตรวจราชการ และพบปะพี่น้องประชาชน กลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน”
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากฝ่ายการเมือง ดังอื้ออึง ตลอดหลายสัปดาห์มาก่อนหน้านี้ แต่ย่อมไม่ใช่ “สาระ” ที่จะทำให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือ เราคงได้เห็นพล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจร่วมเวทีดีเบตกับนักการเมืองจากพรรคต่างๆ
ไม่เช่นนั้นแล้วเราคงได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ กระโดดขึ้นเวทีปราศรัยกับผู้สมัครในจังหวัดต่างๆแทนการเปิดคลิปวิดีโอ เปิดใจ “นายกฯลุงตู่” ตามมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นมิติใหม่ที่แคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมืองเพียงคนเดียวที่ไม่ไปปรากฎตัวร่วมปราศรัยกับนักการเมือง
ขณะที่พรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง ยังคงเดินหน้าหาเสียง ทั้งการลงพื้นที่พบปะประชาชน สลับกับการขึ้นเวทีของ “บิ๊กเนม” ในแต่ละพรรคเพื่อหวังปลุกกระแส สร้างคะแนนกันจนนาทีสุดท้าย ก่อนถึงเส้นตายการหาเสียงในเวลา 18.00 น.ของวันที่ 23 มี.ค. แต่สำหรับพล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ ต้องเลือกที่จะเล่นในพื้นที่ ที่สามารถ “กวาดคะแนน” ไปพร้อมๆกับการช่วงชิง “พื้นที่สื่อ”ให้ได้มากที่สุด
แน่นอนว่าเมื่อพรรคพลังประชารัฐและคสช.เองเลือกวางตำแหน่งหลักให้กับพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้เล่นสำคัญในเกม แต่ไม่จำเป็นต้องลงมาเจอกับ “แรงปะทะ”ผ่านเวทีดีเบตหรือเวทีปราศรัย ทางด้านพรรคคู่แข่งเองก็อ่านเกมออกไม่ต่างกัน !
เมื่อเสียงท้าทาย เสียงยั่วเย้ยจาก “พรรคคู่แข่ง” ไม่อาจโจมตีพล.อ.ประยุทธ์ ให้เปลี่ยนใจออกมารบที่หน้าค่าย การเปิดเกมบุกเข้าไปหาเสียงในพื้นที่หลักๆของพรรคพลังประชารัฐ ตลอดจน “พื้นที่ทหาร” ไปพร้อมๆกับการชูแนวคิด การปฏิรูปกองทัพเพื่อเขย่ากลับ ในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างที่เห็น
พร้อมกันนี้ ยังน่าสนใจว่า พรรคแนวร่วมต้านคสช.และพรรคพลังประชารัฐ ดูจะมีความเชื่อมั่นว่าการชู “ฝ่ายประชาธิปไตย” เพื่อคว่ำ “รัฐประหาร” สกัดการปฏิวัติ อาจเป็นหมัดเด็ดที่ใช้ได้ผล
อย่างไรก็ดีขณะที่ฝ่ายการเมืองกำลังรุดไปข้างหน้าเพื่อเอาชัยชนะกันอย่างดุเดือดนั้น อย่าลืมว่า วันนี้ “กองทัพ” ได้จัดสรรตำแหน่ง ผู้เล่นของกองทัพเอาไว้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน
การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลช่วงกลางปี จำนวนทั้งสิ้น 258 ตำแหน่งที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา น่าจะทำให้ฝ่ายการเมืองฝั่งตรงข้ามคสช.ได้พอประเมินสถานการณ์กันได้แล้วว่าการแต่งตั้งรอบนี้มีการวางกำลังหลักเพื่อตรึงความสงบไปจนถึงหลังวันเลือกตั้งไปเรียบร้อยแล้ว
เมื่อเกมทั้งกระดาน มีความสำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกภาคส่วนซึ่งเชื่อมโยงกับคสช. จะวางแผนการเล่น ครอบคลุมและเบ็ดเสร็จเลยจากสนามเลือกตั้งไปเรียบร้อยแล้ว !