การใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2562 เป็นไปอย่างคึกคัก สะท้อนถึงการตื่นตัวในการไปใช้สิทธิ หลังจากห่างหายไปนานกว่า 5 ปี โดยเบื้องต้นพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และในเขตปริมณฑล ในขณะที่มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตประมาณ 2.6 ล้านคน กระนั้น สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่จะมาถึงนี้ มีคนรุ่นใหม่ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก 8 ล้านคน และในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่จากทุกครั้งที่ผ่านมา ก็คือมีบัตรเลือกตั้ง ใบเดียว กาแล้วจะได้ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วนำคะแนนของผู้สมัครทุกคนทุกเขตของทุกพรรคไปคำนวณหาจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคการเมือง และพรรคที่ได้ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน มีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่สมควรจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น สำหรับคนที่ไม่เคยไปใช้สิทธิ หรือจะต้องไปใช้สิทธิในกติกาใหม่นี้ก่อนอื่นมาทบทวนขั้นตอน การลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ้งมี 5 ขั้นตอนด้วยกันก่อน 1.ตรวจสอบรายชื่อหน้าหน่วยหรือจากหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน 2.แสดงตนเพื่อใช้สิทธิลงคะแนน 3.รับบัตรเลือกตั้ง พร้อมลงรายมือชื่อ 4.เข้าคูหาทำเครื่องหมายกากบาทในช่องทำเครื่องหมาย เพียงเครื่องหมายเดียว 5.พับบัตรและหย่อนใส่หีบบัตรด้วยตนเอง โดยต้องไม่ลืมนำหลักฐานแสดงตนไปด้วย คือ บัตรประชาชน แม้จะหมดอายุก็ใช้ได้ หรือหลักฐานอื่นที่ทางหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยมีรูปถ่ายและเลขบัตรประจำตัว เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรประจำตัวผู้รับบำเหน็จบำนาญ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ ปี 2560 หมวด 4 หน้าที่ปวงชนชาวไทย มาตรา50 (7) ได้บัญญัติให้หน้าที่หนึ่งของประชาชนชาวไทย คือ "ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ" ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ การไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงย่อมทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกจำกัดสิทธิบางประการไป ดังนั้นหากไม่ไป้สิทธิเลือกตั้ง และไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 35 ได้บัญญัติถึงสิทธิที่จะถูกจำกัดไว้ 5 ประการ คือ 1.ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส. 2.สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.หรือสมาชิกสภาพท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมัครรับเลือกเป็นส.ว. 3.สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ 4.ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา 5.ดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปนึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าดเวยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ มีการจำกัดสิทธินี้ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่หากการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิอีก ให้นับเวลาการจำกัดสิทธิจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ กำหนดเวลาที่ถูกจำกัดสิทธิจากการเลือกตั้งครั้งก่อนเหลืออยู่เท่าใดให้สิ้นสุดลง เราคาดหวังให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากๆ เพื่อเลือกคนเก่งและดีเข้ามาพัฒนาประเทศ