ประเด็นที่เป็นสาระหลักการเดินหน้าทางการเมืองของ “พรรคพลังประชารัฐ” ได้รับการสะท้อนผ่านบทสัมภาษณ์ของ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็พร้อมที่จะยอมรับ
นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ ยังเปิดทางว่า พร้อมทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ที่จะจัดตั้งเป็น “รัฐบาลผสม”
แน่นอนว่าเมื่อสูตรรัฐบาลรอบหน้า คือ “รัฐบาลผสม” มาจากทุกพรรคการเมืองซึ่งพร้อมที่จะจับมือกับพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็น “นายกฯ” จึงคล้ายเป็นการเปิดกว้างเปิดรับทุกไมตรี เพื่อให้คสช. กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง แต่แล้วยิ่งเข้าโค้งสุดท้ายกลับกลายเป็นว่า สถานการณ์และเงื่อนไขกำลังแปรเปลี่ยนไปโดยปริยาย
เพราะเมื่อในความเป็นจริงแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”เป็นหัวหน้าพรรค ประเมินแล้วว่า จนถึงวันนี้ โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐ จะได้ที่นั่งส.ส.จนแซง “พรรคใหญ่” ทั้ง พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ดูจะเป็นเรื่องยากเต็มที
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่จะพบว่าอภิสิทธิ์ เลือกที่จะประกาศตัว “ไม่เอาบิ๊กตู่” อย่างที่เห็น จนเกิดเอฟเฟ็กซ์ตามมา โดยเฉพาะจากกองเชียร์พล.อ.ประยุทธ์ หันกลับมา “ชัง” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่างที่เห็น
7 วันสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งคือ “นาทีทอง”ที่ทุกพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ทุกคนที่ประกาศเสนอตัวในสังเวียนรอบนี้ต้องทำงานแข่งกับเวลากันอย่างดุเดือด ยิ่งเมื่อห้วงเวลาจากนี้ไป ผลแพ้-ชนะ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ “นโยบาย” ที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยกขึ้นมาหักล้าง เพื่อหวังจูงใจประชาชนอีกต่อไป แต่จะอยู่ที่ “กระแส”ของตัวผู้สมัครเองเป็นสำคัญ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “ผู้เล่น” ของแต่ละพรรคจึงออกแสดงบทบาทเพื่อสร้างกระแส ให้ตัวเองมากที่สุด และเมื่อ “คะแนน” คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้พรรคใดได้เก้าอี้ในสนามรอบนี้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของปฏิบัติการรบในภาคสนาม ของแต่ละพรรคนั่นเอง
การทำพื้นที่ เพื่อเป็นที่มาของคะแนนเสียงให้แก่ผู้สมัคร คือ “ของจริง” ที่นักการเมืองเอง ประเมินแล้วว่า ที่สุดแล้ว ไม่ว่า “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)จะเขียนสมการให้ยากมากแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่เกินความสามารถของ “ผู้เล่น” อย่างแน่นอน
เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ เริ่ม “จัดหนัก” ด้วยการปล่อยคลิปแรกฝากให้แกนนำพรรคนำไปเปิดบนเวทีปราศรัย เป็นครั้งแรกที่จ.สุโขทัย ขณะที่ “ลุงกำนัน”สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ปล่อยคลิปถล่มทั้ง อภิสิทธิ์
ไปจนถึงพรรคเพื่อไทย โดยการปลุกให้ประชาชนย้อนรำลึกไปถึงสิ่งที่อดีตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยทำเอาไว้ จนทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทย ต้องรุดไปสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ยื่นคำร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบ สุเทพ ที่ประกาศจะนำคลิปภายการชุมนุมของ กปปส.มาเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค.เป็นต้นไป เพราะเกรงว่าจะเข้าข่ายการใส่ร้ายและจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย แม้เป็นการนำภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนมี พ.ร.ฏ.เลือกตั้ง มาเผยแพร่ แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อต้องการทำลายคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยโดยตรง
พรรคไหนจะออกหมัดรวดเร็ว รุนแรงเพื่อเก็บคะแนนในจังหวะ 7 วันสุดท้ายก่อนหย่อนบัตร 24มี.ค.นี้ล้วนแล้วแต่ต้องจับตามองด้วยกันทั้งสิ้น เพราะอย่าลืมว่าทุกการกระทำนั้นๆ อาจนำมาซึ่งคดีฟ้องร้อง กลายเป็นควันหลงหลังการเลือกตั้ง เกิดปัญหารอบใหม่ ในที่สุด !