ทองแถม นาถจำนง การค้นพบทางโบราณคดีโดยใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า พบร่องรอยเมืองโบราณที่อยู่เบื้องใต้ “พระนคร” (บริเวณนครวัด-นครธม) ก็น่าตื่นเต้นอยู่บ้างสำหรับคนที่ชื่นชมกับนครวัด-นครธม ข้าพเจ้าสนใจประวัติศาสตร์ก่อนยุคพระนคร (คือยุคเจนละตอนต้น ประมาณ พ.ศ. 1000) เป็นพิเศษ แต่ข้อมูลเมืองโบราณเบื้องใต้เมือง “พระนคร” นั้นยังไม่มีอะไรชัดแจ้งเลย ประวัติศาสตร์ขอมยุคก่อนพระนครนั้นยังคงค่อนข้างสับสนไม่ชัดแจ้ง เอาแค่เรื่อง “ขอม” เป็นชนกลุ่มใด ปราชญ์ท่านก็เห็นแย้งกันอยู่ แย้งกันยังไง ท่านลองไปอ่านงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ , สุจิตต์ วงษ์เทศ , ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ฯ เอาเองแล้วกัน ในส่วน ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้น ท่านฟันธงไปเลยว่า ขอมโบราณไม่ใช่เขมรทุกวันนี้ “...เราเชื่อว่าพวกขอมโบราณนั้น คงจะไม่ใช่เขมรทุกวันนี้เป็นแน่ เราเชื่อไม่ได้เลยว่าคนที่นุ่งกางเกงใน ถอดเสื้อมีผ้าขาวม้าคล้องคอ เที่ยวขายมีดด้ามเขาอีเก้งและหน้าไม้แก่นักท่องเที่ยวตามโบราณสถานนั้นจะสืบเชื้อสายมาจากคนที่ออกแบบและก่อสร้างปราสาทหินเหล่านั้นขึ้นมา ความจริงปราสาทหินฝีมือขอมก็มีอยู่ในเมืองไทยมากมายหลายแห่ง แต่ไทยเราก็ไม่เคยอ้างว่าเราสืบเชื้อสายมาจากผู้สร้างปราสาทเหล่านั้น เราจึงไม่เชื่อว่าเขมรปัจจุบันจะสืบเชื้อสายมาจากขอมโบราณ เพราะเหตุว่าที่ตั้งของนครวัดและนครธม บังเอิญไปอยู่ในประเทศเขมรทุกวันนี้ เพราะการกำหนดเขตแดนประเทศในแหลมอินโดจีนนี้เป็นเรื่องของการเมืองยุคก่อนพวกเราเกิดไม่นานนัก ถ้าบังเอิญนครธมและนครวัดมาตกอยู่ในเขตแดนไทย ก็คงไม่มีคนไทยคนใดจะอ้างว่าตนสืบเชื้อสายมาจากขอมเป็นแน่ ตามความเห็นของเรา เขมรก็เป็นเขมร ไทยก็เป็นไทย และขอมก็เป็นขอม เป็นคนอีกชาติหนึ่งเผ่าหนึ่งที่เคยปกครองทั้งเมืองไทยและเมืองเขมร แต่บัดนี้สาบสูญไปแล้ว ยังคงทิ้งวัฒนธรรมบางอย่างไว้ให้แก่ทั้งไทยและเขมรในปัจจุบัน” ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านว่า ขอมโบราณนั้นเกี่ยวพันกับศรีวิชัย “...ประเทศขอมโบราณนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิไชย ซึ่งแผ่กว้างครอบคลุมเกาะสุมาตรา ชวา แหลมมลายูประเทศไทย และประเทศกัมพูชาปัจจุบัน อาณาจักรศรีวิไชยนั้นตั้งขึ้นโดยราชกุมารนับถือศาสนาพราหมณ์พระองค์หนึ่ง ซึ่งคงมาจากอินเดีย โดยมีเจตนาที่จะครองโลก อาณาจักรและอารยธรรมของศรีวิไชยนั้นรุ่งเรืองอยู่ได้ถึงห้าศตวรรษ และนับว่าเป็นจักรวรรดิไพศาลมีความเจริญ วัฒนธรรมสูงเยี่ยมในโลกจักรวรรดิหนึ่ง........... ประเทศขอมโบราณนั้นเป็นอาณาจักรหนึ่งในจักรวรรดิศรีวิไชย โดยมีขัตติยวงศ์จากศรีวิไชยเป็นผู้ก่อตั้ง กษัตริย์ขอมพระองค์แรกทรงพระนามว่า “ไชยวารมัน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเสด็จมาจากเกาะชวาในอาณาจักรศรีวิไชย คงจะได้รับมอบพระราชอำนาจเต็มมาจากพระจักรพรรดิ์ศรีวิไชย โดยมีพระแสงอาญาสิทธิ์หรือพระขรรค์เป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจนั้น ฉะนั้นพระขรรค์ที่กษัตริย์ขอมทรงถือต่อเนื่องลงมาและเชื่อกันว่าเป็นพระขรรค์ศักดิ์สิทธิ์(ภายหลังบอกว่าได้มาจากรพระอินทร์) จึงเรียกว่า “พระขรรค์ไชยศรี” ส่อให้เห็นว่ามาจากศรีวิไชย และประตูสำคัญของนครธมซึ่งฝรั่งเศสเรียกว่า “Porte de la Victoire” หรือประตูชัยนั้น ก็คงจะเป็นประตู “ไชยศรี” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อาณาจักรศรีวิไชยอันเป็นประเทศเดิมของปฐมวงศ์ขอมนั้นเป็นแน่แล้ว........... พระเจ้าไชยวารมันได้ทรงนำลัทธิ “ไศเลนทร์” มาจากอาณาจักรศรีวิไชยมาสู่ประเทศขอม และลัทธินี้ได้ทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างอันมหึมาต่าง ๆ ที่เราได้เห็น เพราะเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเป็น “ไศเลนทร์” พระเจ้าแผ่นดินนั้นก็คือองค์พระอิศวรหรือพระศิวะ ผู้สิงสถิตอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ แต่เผอิญประเทศขอมเป็นที่ราบ มีภูเขาพอที่จะสมมุติเป็นเขาพระสุเมรุได้แห่งเดียวคือที่เขาพนมเบาคง ความจำเป็นก็เกิดขึ้นที่จะต้องสร้างเขาพระสุเมรุกันเรื่อย ๆ ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ไหน ก็ต้องสร้างเขาพระสุเมรุขึ้นที่นั่นและปักศิวลึงค์อันเป็นเครื่องหมายของพระศิวะลงไป เมื่อภูเขาจริง ๆ ไม่มี ก็ต้องเกณฑ์คนมาขุดดินมูนขึ้นให้เป็นภูเขา ยิ่งเกณฑ์คนมาขุดได้มากเท่าไร ภูเขาที่ทำด้วยแรงคนก็ยิ่งสูงขึ้นไปและยิ่งใกล้เขาพระสุเมรุเข้าไปมากเท่านั้น... พระเจ้าไชยวารมันครองราชสมบัติ 67 ปี เริ่มรัชกาลเมื่อราว ๆ พ.ศ. 1345 พอพระเจ้าไชยวารมันสวรรคตแล้ว อาณาจักรขอมก็ประกาศเป็นเอกราชจากอาณาจักรศรีวิไชย และต่อจากนั้นมาอีกห้าร้อยปีพระเจ้าแผ่นดินขอมก็ทรงพระนามว่า อินทรวารมันบ้าง ไชยวารมันบ้าง หรือยโศวารมันบ้าง จนสุดที่จะจดจะจำ ทุกพระองค์พยายามจะแผ่อำนาจ พยายามจะสร้างพระบารมี ถึงคนทั้งประเทศจะยกย่องแล้วว่าเป็นเทวราช เป็น “ไศเลนทร์” แต่ทุกพระองค์ก็ยังเป็นมนุษย์ ยังอยากจะ “เบ่ง” พระองค์ออกไปอีก ในที่สุดด็เข้าหลักอนิจจสัจจ์ ถึงจะเบ่งพระองค์ออกไปสักเพียงใดก็ต้องมีที่สิ้นสุดลงวันหนึ่ง และปราสาทหินที่สร้างสมไว้ประดับบารมี ตลอดจนรั้ววังและสระน้ำใหญ่น้อยอันเคยเป็นที่รื่นรมย์ ก็ปรักหักพังเอนล้มลมลงไปในป่า” ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช จับเอาจุดเริ่มของขอมว่าคือสมัยพระเจ้าไชยวารมัน (ตำราสมัยใหม่เรียก “พระเจ้าชัยวรมันที่ 2”) ซึ่งเป็นยุคที่ “เจนละ” เสื่อมโทรมล่มไปแล้วก่อนหน้านั้น ในดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชาปัจจุบันและสามเหลี่ยมดินดอนแม่น้ำโขงมีแว่นแคว้นใหญ่มาตั้งแต่โบราณก่อนยุคเจนละ คือแคว้น “ฟูนัน” “ฟูนัน” เป็นแคว้นที่เจริญรุ่งเรืองร่วมสมัยกับยุคสามก๊กของจีน ซุนกวนประมุขของง่อก๊กส่งทูตมาเยือนฟูนัน และชาวจีนในคณะทูตคนหนึ่งชื่อ “คังไท่” ได้จดบันทึกเล่าเรื่องก๊กฟูนันเอาไว้ คณะทูตของซุนกวนได้พบกับคณะทูตจากอินเดียใต้(ยุคปัลลวะ)จึงได้เชิญชวนนำคณะทูตอินเดียใต้เดินทางไปถึงง่อก๊กด้วย แว่นแคว้นในสุวรรณภูมิร่วมสมัยกับฟูนัน ยังมีแคว้นพยู (จีนเรียกว่า “เพียว”) ในดินแดนพม่า แคว้นจินหลิน (น่าจะอยู่แถวอู่ทอง) แคว้นผานผาน (ว่าอยู่ทางใต้ของฟูนัน) เป็นต้น ตำนานการก่อตั้งแคว้นฟูนัน มีบันทึกไว้โดยคังไท่และในจารึกของแคว้นจามปาผู้ก่อตั้งแคว้นตำนานว่าชื่อ “โกณฑัญญะ” เป็นชาวชมพูทวีป มาได้กับธิดาของ “นาค” ชื่อนางหลิวเหย่ หรือ โสมะ (Soma) ยอร์ช เซเดส์ บอกว่า อาณาจักรฟูนันก่อตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๖ โดยพราหมณ์มาจากอินเดีย ฟูนันเจริญรุ่งเรืองมากในพุทธศตวรรษที่ 8 อาณาเขตทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขยายออกไปถึงภาคใต้ของดินแดนเวียดนาม ทางตะวันตกครอบคลุมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทยจนถึงประเทศพม่า ทางใต้ขยายลงไปถึงตอนเหนือของแหลมมลายู ดี.จี.อี. ฮอลล์ บอกว่า ฟูนันรับวัฒนธรรมการปกครองจากอินเดีย กษัตริย์มีสถานภาพเป็นสมมุติเทพ มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง เป็นทั้งเจ้าแผ่นดิน เจ้าชีวิต และเป็นผู้ตัดสินว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก และว่าฟูนันรับเอาพระมนูศาสตร์ (มานวธรรมศาสตร์) ของฮินดูมาเป็นต้นแบบในการปกครอง แว่นแคว้นที่มีบันทึกลายลักษณ์อักษรกล่าวถึงเก่าแก่ที่สุดในดินแดนกัมพูชาคือ “ฟูนัน” (สำเนียงจีนกลางว่า – ฟูหนาน) ฟูนันนี่รุ่งเรืองอยู่ช้านานทีเดียว คือตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 – 6 ข้อมูลจาก “วิกิพีเดีย”ว่า “ที่ตั้งของรัฐอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งประเทศกัมพูชาเวียดนามตอนใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย บางตอนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคใต้ของไทย ลงมาถึงแหลมมลายู ฟูนานรวมตัวกันเป็นรัฐแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรัฐชลประทานภายในแผ่นดินที่ประชาชนดำรงชีพด้วยการเกษตร โดยใช้น้ำจากระบบชลประทานที่พัฒนาเป็นอย่างดี นอกจากนั้น ฟูนานยังมีเมืองท่าสำหรับจอดเรือและค้าขายต่างประเทศ ฟูนาน จึงมีรายได้จากการค้าขาย การเดินเรืออีกด้วย เรื่องราวของรัฐฟูนาน ทราบจากบันทึกของชาวจีนที่เดินทางมาแถบนี้ ได้เขียนเล่าถึงความมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ในชุมชนที่มีระเบียบ มีคุณธรรม มีการปกครองระบอบกษัตริย์ มีเมืองต่าง ๆ มาขึ้นด้วยหลายเมือง มีวัฒนธรรมแท้ ๆ ของตนเอง มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ทั้งในทวีปเอเชียด้วยกัน และโลกตะวันตก ชนชั้นสูงเป็นพวกมาลาโยโพลีนีเซียน ชาวจีนว่าพวกชนชั้นพื้นเมืองของฟูนันหน้าตาหน้าเกลียด ตัวเล็ก ผมหยิก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพวกเนกริโตและเมลานีเซียน ฟูนานมีประวัติความเป็นมา เริ่มจากการรวมตัวกันของผู้คน เป็นชุมชนเล็กขนาดหมู่บ้าน จากหมู่บ้านพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐ วิธีการพัฒนาจากสังคมเผ่าเป็นสังคมรัฐมีปัจจัยและขั้นตอนหลายประการ”