ทวี สุรฤทธิกุล รัฐบาลในภาวะพิเศษ คือรัฐบาลที่ตั้งขึ้นด้วย "อำนาจพิเศษ" รัฐบาลในภาวะพิเศษ มีความแตกต่างจาก รัฐบาลแห่งชาติ ทั้งในรูปแบบและเหตุผลในการจัดตั้ง โดยที่ รัฐบาลแห่งชาติ คือรัฐบาลที่เกิดขึ้นด้วยการรรวมตัวกันของพรรคการเมืองทุกพรรค หรือบางทีก็ไม่มีพรรคการเมืองแต่กลุ่มชนชั้นปกครองมาตกลงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เช่น ภายหลังรัฐประหาร หรือในภาวะที่ประเทศมีภาวะ วิกฤติ บางอย่าง เช่น มีสงคราม หรือเกิดวิบัติภัยขึ้นในชาติ เป็นต้น ต่างจาก รัฐบาลในภาวะพิเศษ คือรัฐบาลที่เกิดจากรวมกันของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งที่ผ่านการเลือกตั้งด้วยกันมา ด้วยเหตุผลที่ เป็นพิเศษ เช่น เพื่อแก้ไขปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลตามกติกาประชาธิปไตย โดยถ้าเป็นไปตามมาตรฐานสากลก็จะต้องให้พรรคที่มีเสียงข้างมากได้เป็นแกนนำในการจัดตั้ง แต่ปรากฏว่าหลังการเลือกตั้งมีหลายพรรคที่ได้ ส.ส.เข้ามามีจำนวนก้ำกึ่งกัน พรรคการเมืองบางพรรคอาจจะเข้ามารวมกันเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลนั้นสำเร็จให้ได้ ทั้งนี้ก็จะต้องมี อำนาจพิเศษ บางอย่างมาช่วยดำเนินการให้เกิดขึ้น ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็อาจจะอยู่ในสภาพดังกล่าว คือ มีพรรคการเมืองที่เลือกตั้งเข้ามาได้จำนวน ส.ส. สูสีกัน โดยมี ผู้สันทัดกรณี หลายคน(และหลายแหล่ง)ประเมินว่า พรรคที่ได้ ส.ส.(ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อรวมกัน)เกินร้อยคนน่าจะมีเพียง 3 พรรค ที่เรียกว่ากลุ่มพรรคขนาดใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะได้ ส.ส. เรียงลำดับกันไปอยู่ระหว่าง 120 " 130 คน 110 " 120 คน และ 100 "110 คน (บ้างก็ว่าพรรคหลังประชารัฐอาจจะได้คะแนนมาเป็นที่สามและอาจจะได้ ส.ส.ไม่ถึง 100 คน) รวม ส.ส.ในกลุ่มนี้น่าจะกวาด ส.ส.ไปแล้ว 350 " 360 คน ที่เหลืออีก 140 " 150 คน จะอยู่ในกลุ่มพรรคขนาดกลางอีก 4 " 5 พรรค เป็นต้นว่า พรรคภูมิใจไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่น่าจะได้ ส.ส.ทั้งสองแบบราวพรรคละ 10 " 40 คน รวมกันในกลุ่มนี้น่าจะได้ ส.ส.ไม่เกิน 100 คน และที่เหลืออีก 40" 50 คน จะเป็น ส.ส.ของกลุ่มพรรคขนาดเล็กอีก 7 "8 พรรค ที่อาจจะได้ ส.ส.เขตมาบ้าง และเก็บตกคะแนนรวมเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อมาได้บ้าง พรรคละ 1" 10 คน ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาประมาณนี้ ตามหลักสากลพรรคที่จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็คือพรรคเพื่อไทย แต่ด้วย หมากกล ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ว่ากระบวนการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องเริ่มต้นด้วยการเสนอชื่อผู้ที่สมควรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นให้รัฐสภาเลือกเสียก่อน โดยรัฐสภานี้ประกอบด้วย ส.ส. 500 คน ร่วมกับ ส.ว. 250 คน รวม 700 คน โดยจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป โดย หมากกล นี้ได้กำหนดให้ฝ่ายที่จะได้เป็นรัฐบาลต่อไปมีคะแนนเสียงตุนไว้แล้ว 250 คน คือ ส.ว.ทั้งหมดที่ผู้ต้องการสืบทอดอำนาจเป็นผู้แต่งตั้งเข้ามา จึงต้องการจำนวน ส.ส.อีกเพียง 126 คน ก็จะสามารถตั้งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลได้ต่อไป คงไม่ต้องอธิบายว่าทำไมพรรคเพื่อไทยจึงหมดโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่อาจจะได้ ส.ส.มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ ก็คงยากที่จะฉวยโอกาสดังกล่าว เพราะผู้ที่ต้องการสืบทอดอำนาจได้กำหนดให้พรรคของตน คือพรรคพลังประชารัฐให้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลไว้อย่างพร้อมสรรพ โดยได้แสดง พลังดูด อย่างมหาศาลมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งก็เช่นเดียวกัน โดยจะเป็นพลังดูดที่ มหึมา ยิ่งกว่า เพราะจะได้ ของดี คือตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ มาเป็นพลังดูดนั่นเอง ดังนั้น ภาพปรากฏ ที่จะเกิดทันทีที่ผลการเลือกตั้งประกาศออกมาก็คือ การประกาศตัวของพรรคการเมืองหลายๆ พรรคที่ ขอสนับสนุน การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ โดยบางพรรคอาจจะร่วมโหวตลงคะแนนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคพลังประชารัฐเป็นผู้เสนออีกด้วย หรือแม้แต่กระทั่งพรรคที่พยายามวางตัวให้ดู หนักแน่น (ที่จะไม่เอนเอียงไปสนับสนุนเผด็จการทหาร) อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็อาจจะต้องเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีไปก่อน แต่ในการจัดตั้งรัฐบาลก็อาจจะเข้ามาร่วมด้วย ด้วยข้อเสนอว่าให้มาร่วมกันเป็น รัฐบาลในภาวะพิเศษ (แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ประกาศออกมาเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า จะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่การเมืองไทยก็มีอะไรพลิกผันได้เสมอ โดยเฉพาะ ข้อเสนอ ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลในภาวะพิเศษนี้) ข้อเสนอที่จำเป็นจะต้องมี รัฐบาลในภาวะพิเศษ นี้ ก็เพื่อหวังให้รัฐบาลมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเสียงข้างมาก เพราะลำพังพรรคพลังประชารัฐก็มีเสียงเพียง 100 เศษๆ รวมกับพรรค พลังอยาก ที่มีอยู่จำนวนหนึ่งก็อาจจะได้ไม่ถึง 200 เสียง ดังนั้นถ้าได้พรรคประชาธิปัตย์มาร่วมอีกพรรคหนึ่งก็อาจจะมีจำนวน ส.ส.กว่า 300 เสียงนั่นเลยทีเดียว รัฐบาลก็จะ แข็งปั๋ง การทำงานของรัฐบาลก็จะเป็นไปด้วยความสะดวกราบรื่น การเสนอกฎหมายอะไรให้สภาพิจารณาก็ไม่ติดขัด การโหวตในญัตติใดๆ ก็จะชนะ แปลว่าจะพบแต่ความสะดวก โยธิน ทุกประการ (คำว่า โยธิน นี้พจนานุกรมแปลว่า ทหาร ครับผม) นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ข้อสังเกตว่า การจัดตั้งรัฐบาลในภาวะพิเศษอาจจะไม่ได้มีเหตุผลเพียงเพื่อให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพเท่านั้น ซึ่งพรรคที่ เก๋าเกม อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคที่เกิดก่อนพรรคพลังประชารัฐ คงไม่ตกหลุมไปช่วยกลุ่มที่อยากสืบทอดอำนาจนั้นได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีเหตุผลอะไรอื่นที่ เป็นพิเศษ ยิ่งกว่า ซึ่งถ้าใช้คำพูดแบบ กอดฟาเธอร์ ก็คือ เราจะเสนอข้อเสนอที่คุณปฏิเสธไม่ได้ บางทีรัฐบาลแบบนี้อาจจะทำให้บ้านเมืองสงบร่มเย็นก็ได้