เกาะขบวนให้แน่นเหลืออีก 12 วันจะถึงวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่สถานการณ์การแข่งขันดุเดือดเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการเมือง 3 ก๊กที่ก๊กหนึ่ง ประกาศจุดยืนออกมาอย่างชัดเจน เปิดเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง แม้จะยังเร็วไปที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่ต้องยอมรับความจริงที่ว่า มีการวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์หลังการเลือกตั้ง การจับขั้วรัฐบาลกันมาตั้งแต่ยังไม่ได้ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ หากย้อนไปดูสมมติฐานที่ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำเสนอเอาไว้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คือ มีแต่แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยไม่มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีในรอบแรกได้นั้น พรรคการเมือง จะต้องแจ้งรายชื่อต่อ กกต. และประกาศให้ประชาชนได้รับทราบก่อน ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงถูกเรียกว่า "การเลือกตั้งแบบ 3 In 1" กล่าวคือ การใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชนซึ่งมีเพียงคะแนนเดียว จะเป็นทั้งการเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีไปพร้อมกัน ปริญญายังพูดถึง การเกิดขึ้นของการเมืองแบบ 3 ก๊ก มีผลต่อการที่จะจัดตั้งรัฐบาล คือ ก๊กที่ 1 พรรคการเมืองและ ส.ว.ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา , ก๊กที่ 2 พรรคเพื่อไทยและพรรคเครือข่าย และก๊กที่ 3 คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ทั้ง 3 ก๊กนี้จะต้องมีสองพรรคที่จับมือกันตั้งรัฐบาล ถึงแม้ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.จะเป็นผู้เสนอชื่อว่าที่ ส.ว. 250 คน และทำให้การเป็นนายกรัฐมนตรีต่อของพล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก จากกติกาตามบทเฉพาะกาล ที่ต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา 376 เสียง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการอีกแค่ 126 เสียง ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะต่อให้พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.ไม่ถึง 126 เสียง ก็ไม่น่ายากที่จะดึงพรรคขนาดกลางและเล็กมาร่วม แต่ในส่วนนี้ มองว่า จะเป็นปัญหา เพราะถ้าเสียงในสภาผู้แทนราษฎรที่มีไม่ถึงครึ่ง รัฐบาลจะเป็นเสียงข้างน้อยในสภา ซึ่งจะทำให้เสนอร่างกฎหมายไม่ผ่าน และถูกลงมติไม่ไว้วางใจได้ จึงมีอยู่ 3 ทางที่จะทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ คือ พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ , พรรคประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคเพื่อไทย แนวทางที่ 2 ที่พรรคพลังประชารัฐจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ดูจะมีโอกาสมากกว่าแนวทางอื่นๆ และการรวมกันไม่จำเป็นที่พรรคที่มี ส.ส.มากสุดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะมาโหวตหนุนพรรคพลังประชารัฐก็มีเงื่อนไขอีกว่า พรรคพลังประชารัฐต้องชนะเลือกตั้งให้ได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง เพราะจะเป็นคำตอบของความชอบธรรม ที่พรรคประชาธิปัตย์จะโหวตให้ อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปดูสมมติฐานของปริญญา และผลโพลล์จากสำนักต่างๆ ก็จะทำให้เข้าใจปรากฎการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจนขึ้น แต่ไม่ว่าอย่างไร ที่สุดแล้วผลคะแนนจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจ และกว่าจะถึงวันนั้นทุกก๊กยังมีเวลาในที่จะเปิดไพ่ตาย