ปัญหาภัยแล้งเวียนมาอีกครั้ง ในช่วงหน้าร้อนของทุกปี ยิ่งในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะมีความรุนแรง โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะมีถึง 7 จังหวัด ที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ คือในบางพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนคราชสีมา จังหวัดเลย จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดราชบุรี ซึ่งจะต้องรักษาน้ำให้มีใช้ไปถึงเดือนพฤษภาคม คือในช่วงฤดูฝนตามที่กรมอุตินิยมวิทยาคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในวันที่ 20 พฤษภาคม ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1% ของจีดีพี แต่ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขผลกระทบดังกล่าวอาจมีผลไม่มากนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปัจจุบัน ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.2% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในระดับภูมิภาค จากเหตุการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ ซึ่งจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แจ้งมาว่าจากระดับปริมาณน้ำเดิม และสภาพของอากาศจะส่งผลให้ปีนี้แล้งกว่าปีที่ผ่านมา จึงให้แจ้งเตือนไปในทุกพื้นที่แล้ว ซึ่งทางผู้ว่าราชการทุกจังหวัดได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำ ทั้งนอกและในเขตชลประทาน โดยเฉพาะในเรื่องของการปล่อยน้ำอุปโภค บริโภคให้กับประชาชน อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมการในพื้นที่ที่มีประวัติขาดแคลนน้ำ โดยการเตรียมรถสูบน้ำไว้ในการสนับสนุน ขณะที่น้ำด้านการเกษตรได้แจ้งเตือนไปยังพื้นที่เสี่งต่อการขาดแคลนน้ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาที่ประชาชนปลูกพืชเกินกว่าหน่วยราชการตั้งเป้าไว้ โดยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามรณรงค์ให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ส่วนพื้นที่ที่ปลูกไว้แล้วเราก็ต้องเตรียมการช่วยเหลือ แต่หากสุดวิสัยก็จะต้องเตรียมการเพื่อเยียวยา แต่มั่นใจว่าปัญหาภัยแล้งน่าจะสามารถควบคุมได้ ซึ่งยอมรับว่าจะแล้งยาวนาน และตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่าฝนจะตกต้นเดือนพฤษภาคม จึงได้กำชับให้มีการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ทั้งหมดให้มีใช้ถึงเดือนพฤษภาคม ทางด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยืนยันว่า ในระยะสั้น ฤดูแล้งนี้มีการวางแผนเตรียมพร้อมแล้ว ส่วนการแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาวจะมีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำจำนวนหลายแสนแห่งทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการน้อมนำโครงการพระราชดำริที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการแก้ปัญหา เช่น การทำแก้มลิง เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของแผนการทำแก้มลิงนั้น เราเห็นว่า ควรจะสนับสนุนหรือขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่นผู้ประกอบการการหมู่บ้านจัดสรร สปอร์ตคลับ ภาคธุรกิจร้านอาหาร ที่ภาครัฐอาจหามาตรการในการจูงใจให้ภาคเอกชนเหล่านี้ เข้าร่วมในการทำแก้มลิงเพื่อสาธารณะ เนื่องจากภาคเอกชนบางแห่งมีศักยภาพในการดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยในการแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง และน้ำท่วมได้