ทุกพรรคการเมืองต่างพากันทยอยปล่อย “หมัดเด็ด” เพื่อหวังช่วงชิงคะแนนจากบรรดา “โหวตเตอร์” พี่น้องประชาชนที่จะออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง วันที่ 24 มี.ค.นี้กันอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นหมัดเด็ดความเหนือชั้นของ “นโยบาย” ไปจนถึงการสร้างสีสันทางการเมือง สารพัดรูปแบบ หลากสีสัน ไปจนถึงการเปิดวิวาทะ การประกาศจุดยืน เลือกข้างหรือย้ำชัดๆว่าจะหนุนหรือไม่หนุน “ใคร” หลังการเลือกตั้ง การนำเสนอนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง กู้วิกฤติเศรษฐกิจ จากพรรคการเมืองต่างๆ ถูกโปรโมท ควบคู่ไปกับการเดินสายเปิดเวทีปราศรัยทั่วประเทศ ของ “แกนนำ” ระดับคีย์แมนของพรรค เพื่อเร่งช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียงให้ได้มากที่สุด ภายใต้ระยะเวลาที่กระชั้นเข้ามาทุกขณะ ความเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคต่างๆ ไปจนถึงสีสันที่เรียกความฮือฮา ให้ปรากฎเป็นข่าว ในแทบทุกๆวันนั้น แท้จริงแล้วอาจยังไม่ใช่ “คำตอบ”ที่ชี้ชัดได้ว่า พรรคต่างๆเหล่านั้นจะได้ “คะแนนเสียง” ชนิดท่วมท้น เพราะเรื่องของ กระแส และ สีสัน นั้นถือเป็นคนละเรื่องกับ “คะแนน” ที่จะพาผู้สมัครชนะการเลือกตั้ง เข้าวินสู่สภาผู้แทนราษฎร อย่างสิ้นเชิง เพราะแม้แต่การเดินสายหาเสียงของ “แกนนำพรรคพลังประชารัฐ” ในจังหวัดต่างๆ ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่าวันนี้พลังประชารัฐ จะสามารถกวาดที่นั่งส.ส.ได้มากกว่า 100 ที่นั่งหรือไม่ ดังนั้นการเดินสายพบปะพี่น้องประชาชน ก่อนถึงวันเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ ที่วางคิวยาวไปจนถึงก่อนหน้าวันหย่อนบัตรเพียงไม่กี่วัน โดยในวันที่ 16 มี.ค. นี้นายกฯ มีภารกิจตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดแพร่ จากนั้นในวันที่ 18 มี.ค. ช่วงเช้าพล.อ.ประยุทธ์ มีภารกิจเปิดงานกองทุนหมู่บ้าน ที่อิมแพคเมืองทองธานี ก่อนที่ช่วงบ่ายจะเดินทางตรวจราชการและเยี่ยมเยือน ผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 19 มี.ค.ในช่วงเช้าจะเดินทางไป ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อเข้าร่วมพิธีฉลองการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย /ตองยิน แห่งที่ 2 และในวันที่ 20 มี.ค.มีกำหนดการช่วงเช้าลงพื้นที่ตรวจราชการสวนเบญจกิติ กทม. ส่วนช่วงบ่ายลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ถึงแม้จะมีการวางโปรแกรมกันล่วงหน้าเช่นนี้ ก็ใช่ว่าพรรคพลังประชารัฐ เองจะวางใจมากพอที่จะ “ไม่ทำพื้นที่” ยิ่งมีผลการสำรวจจากโพลสำนักต่างๆ สะท้อนออกมาว่าคะแนนเสียงของพรรค ยังตามหลังพรรคคู่แข่งอย่าง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาธิปัตย์” อีกหลายช่วงตัว อย่างไรก็ดีตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากแกนนำแทบทุกพรรคที่ต่างพากันเปิดแผนการเล่นในภาคสนาม โดยเฉพาะการเน้นไปยังภารกิจ “ทำพื้นที่” หรือการหาเสียงจัดตั้ง เพื่อเตรียมรองรับวันเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้า วันอาทิตย์ที่ 17 มี.ค.นี้ไปจนถึงวันจริง 24มี.ค. แน่นอนว่าการทำพื้นที่ ของแต่ละพรรคการเมืองนั้นได้เริ่มดำเนินการกันมาก่อนหน้านี้หลายเดือน จะเรียกว่าทำในลักษณะของคู่ขนานไปกับการจัดเวทีปราศรัยให้กับแกนนำของพรรคตนเองก็คงไม่ผิดนัก ภารกิจการปราศรัย เพื่อสร้างกระแส ถือเป็น งานฉากหน้า ส่วนการทำพื้นที่ การจัดหา “หัวคะแนน” ไปจนถึงการจัดตั้งคะแนน ถือเป็น “ฉากหลัง” ที่มีความสำคัญ สามารถชี้ชะตา วัดผลได้ในทุกพื้นที่กวาดที่นั่งส.ส.ได้ชนิดเป็นกอบเป็นกำ ต่างหาก !