สมบัติ ภู่กาญจน์ มาถึงตอนนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีแนวคิดต่อเนื่องให้ผู้ที่สนใจในเรื่องของการเมืองการปกครองได้พิจารณา ว่า “ ได้กล่าวมาแล้วว่า ประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาว่า ใคร จะครองเมือง และใครในที่นี้ ก็คือประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนศัพท์ว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในภาษาไทยนั้น ผมเห็นว่าดีแล้วถูกต้องชัดเจนแล้ว และให้ความหมายของระบอบการปกครองชนิดนี้ได้ถูกต้องสมบูรณ์แล้วว่า ประชาชนเป็นผู้มีอธิปไตย คือมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ในขั้นนี้ ผมขอฝากเป็นข้อสังเกตไว้เป็นสิ่งแรกว่า ในระบอบการปกครองของอังกฤษและอเมริกานั้น ไม่มีที่ไหนเลย ที่จะยอมรับหลักการนี้ กล่าวคือ การปกครองของอเมริกาก็ไม่ใช่การปกครองโดยประชาชน แต่เป็นหลักการปกครองด้วยความยินยอม(Consent)ของประชาชน และด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอเมริกันจึงแบ่งอำนาจสามอำนาจคือนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ออกจากกันโดยเด็ดขาด ไม่มีอำนาจใดคุมอำนาจใด และเกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีการคาบเกี่ยวกันเลย ถ้าหากว่า การปกครองโดยยอมรับอธิปไตยของประชาชนทั้งมวลว่าเป็นสิ่งสูงสุดแล้ว อธิปไตยนั้นก็จะต้องเป็นแหล่งที่มา และเป็นต้นเค้าของอำนาจบริหาร ซึ่งไม่มีใครบังคับได้และไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครทั้งสิ้น นอกจากตัวประชาชนเอง คือผู้ทรงอธิปไตย แต่ตามรัฐธรรมนูญของอเมริกัน ศาลสูงสุดกลับมีอำนาจชี้ขาดว่าการกระทำใดของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลเป็นโมฆะหรือไม่โมฆะ และถ้าหากว่าศาลชี้ขาดว่าเป็นโมฆะแล้ว การกระทำดังกล่าวก็จะเป็นโมฆะคือไม่มีผลใดๆไปจริงๆ ซึ่งข้อกำหนดเช่นนี้กลับมีขึ้นไม่ได้เลยในประเทศฝรั่งเศส ที่ถือหลักว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นอำนาจอันสมบูรณ์ ตามหลักการประชาธิปไตย ส่วนในอังกฤษ ก็ไม่มีตรงไหนอีกเหมือนกันที่จะบอกว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เพราะอังกฤษถือว่า อำนาจอธิปไตยอยู่ที่King in Parliament คือ‘พระมหากษัตริย์ในรัฐสภา’ ไม่ได้อยู่ในที่พระมหากษัตริย์แห่งเดียว รัฐสภาแห่งเดียว หรือประชาชนทั้งมวล ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ที่หลักการต้องเป็นเช่นนี้ เพราะมีความจำเป็นบังคับมาตั้งแต่แรกเริ่ม ที่ยึดถือกันว่า พระมหากษัตริย์จะบริหารราชการแผ่นดินไปโดยขัดต่อมติของรัฐสภามิได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะมีใครเชื่อถือในสิทธิของผู้ใต้ปกครอง แต่เป็นไปเพราะความจำเป็นบังคับ เพราะรัฐสภาอังกฤษนั้นประกอบไปด้วย House of Lords หรือสภาขุนนางจำพวกหนึ่ง และHouse of Commonsหรือสภาสามัญ อันเป็นขุนนางชั้นรองลงมาอีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งคนทั้งสองจำพวกนี้ มีทั้งเงินทั้งอาวุธและทั้งอิทธิพล ที่สามารถจะอำนวยประโยชน์ได้ทั้งในด้านการบริหาร หรือการต่อต้านการบริหาร พระเจ้าแผ่นดินจึงจำเป็นต้องคอยเอาใจขุนนางที่อยู่ใต้บังคับบัญชาเหล่านี้ จะปฏิบัติการใดๆก็ต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจากขุนนางเหล่านี้ก่อน หลักการปกครองโดยความยินยอมของผู้อยู่ใต้ปกครองจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าใครสามารถทำให้คนกลุ่มหนึ่งยินยอมได้แล้ว การสานต่อให้เกิดความยินยอมของคนส่วนใหญ่ หรือเพิ่มขึ้นไปถึงคนทั้งประเทศ ย่อมจะไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นด้วยประการใด ที่ผมต้องอ้างประวัติการปกครองของอังกฤษและอเมริกามา ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยชนิดที่จะเรียกว่าเป็น‘สมบูรณ์นิยม’จริงๆ กับระบอบการปกครองอันมีสถาบันเสรีต่างๆ ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันอยู่ และเรียกรวมๆว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น ถ้าจะพิจารณากันให้ถ่องแท้แล้ว ทั้งสองระบอบนี้ก็มีความแตกต่างกัน คำว่า‘สมบูรณ์นิยม’นี้ ผมบัญญัติขึ้นเอง ไม่ทราบว่าจะผิดหรือถูก แต่เจตนาเพื่อที่จะให้ตรงกับคำว่า Totalitarian หรือ Totalitarianism ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเรามักจะแปลกันว่า‘ระบอบเผด็จการ’ ซึ่งในที่นี้ผมจะขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบ ‘สมบูรณ์นิยม’ในความเห็นของผมไว้ก่อนสักเล็กน้อย ลักษณะสำคัญของระบอบ‘สมบูรณ์นิยม’นั้น อยู่ที่ความหมายของคำว่า‘สมบูรณ์’นั้นเอง เพราะระบอบนี้จะต้องยึดว่ามีลัทธิอันเป็นความจริงโดยสมบูรณ์อยู่ ซึ่งระบอบนี้ก็จะเรียกร้องหรือบังคับให้คนต้องยอมรับลัทธิของตนที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ คือไม่ใช่รับเอาแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง และด้วยความเลื่อมใสอันสมบูรณ์ด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ระบอบนี้จะปฏิบัติ ก็คือเข้าควบคุมรัฐโดยสมบูรณ์ก่อนจะทำการปกครองต่อไป และสิ่งที่ระบอบนี้จะยอมรับไม่ได้ก็คือความไม่สมบูรณ์ต่างๆในรัฐ เช่นความเห็นขัดแย้งหรืออิสรภาพในส่วนตัวบุคคล ตลอดจนความคิดเห็นต่างๆที่จะทำให้ความสมบูรณ์ที่ตนคิดนั้นบกพร่องไป เพราะพิจารณาแนวคิดสมบูรณ์นิยมว่าเป็นเช่นนี้ ผมจึงได้ใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตยสมบูรณ์นิยม’มาเมื่อกี้นี้ ผู้ฟังบางท่านอาจสงสัยว่าลัทธิเช่นนี้จะมีในระบอบประชาธิปไตยได้จริงหรือ? ผมขอตอบว่ามีได้แน่ และเคยมีมาแล้วด้วย กล่าวคือ การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1789 นั้น เป็นการกระทำเพื่อทำให้อำนาจของปวงชนเป็นความจริงขึ้นมา เป็นการพิสูจน์ว่าลัทธิดังกล่าวนั้นสามารถเป็นจริงได้ ซึ่งในเนื้อหาของลัทธินั้นจะมีความอยู่ว่า “ในรัฐใดก็ดี อำนาจบริหารที่ชอบด้วยนิตินัย เป็นกรรมสิทธิ์อันสมบูรณ์ของประชาชนทั้งมวล อาศัยความยินยอมที่ต่างฝ่ายต่างก็ให้ไว้แก่กันในอดีต” การปฏิวัติดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า องค์กรหรือสถาบันอันมีค่าเท่ากับประชาชนทั้งมวลนั้นสามารถสร้างขึ้นได้ และองค์กรหรือสถาบันนี้มีเจตนาอันเป็นส่วนรวมที่จะปกครองประเทศ และแสดงออกซึ่งเจตนาสาธารณะอันถูกต้องตามแนวคิดได้ ผลที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นก็คือ เลือดนองแผ่นดิน ก่อนที่การปรับเปลี่ยนแนวคิด จะต้องติดตามมาอีกในยุคต่อๆมา เนื้อที่สำหรับวันนี้มีจำกัด แต่ข้อคิดของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่พยายามทำให้คนมองเห็นสิ่งต่างๆอย่างกว้างขวางและในแง่มุมที่ครบถ้วนทุกมิติ ยังมีต่อไปอีก พร้อมด้วยข้อเสนอแนะ ที่จะช่วยเพิ่มความคิดให้ประชาชนคนไทย ในโลกยุคที่ ความห่วงใยใน‘ความไม่รู้’ของผู้คน เริ่มหายากขึ้นทุกวันนี้ ผมจะพยายามนำแนวคิดเหล่านี้มาบอกเล่าต่อไปเรื่อยๆ ผู้ใดที่สนใจขอเชิญติดตามต่อไปได้ทุกสัปดาห์ครับ