สถาพร ศรีสัจจัง
มีเรื่องเกี่ยวกับนิสัยใจคอ ที่มีลักษณะคล้ายเป็นนิสัยประจำชาติของคนไทยอยู่หลายเรื่อง ที่ถูกพูดถึงในทำนอง แก้ไม่หาย ในบรรดา นิสัย ประจำชาติที่ว่าเหล่านั้น อย่างน้อยมีอยู่ 2 เรื่อง ที่หลายใครบอกว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ
อย่างแรกคือคำกล่าวที่ว่า คนไทยเป็นคนลืมง่าย !
และอีกอย่างคือ คนไทยชอบเห่อตามกระแส ใจดี เชื่อคนง่าย (อันนี้ประหลาดดี เพราะดูจะขัดๆกับการที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีรากอยู่บนคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่มีคำสอนของศาสดาเรื่อง กาลามสูตรที่มุ่งสอนให้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ)
ข้อหลัง ถ้าจะพูดให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือคนไทยมักชอบเต้นไปตามเสียงกลองที่ใครบางคนบางกลุ่มตีเร้าเป็นจังหวะให้เต้นตาม สังคมไทยจึงเต็มด้วยการซุบซิบนินทาว่าร้าย ตื่นตูม และถูกหลอกได้ง่าย ฯลฯ
ตัวอย่างชัดๆง่ายๆที่สะท้อน การเต้นตามเสียงกลอง ที่โปรแกรมเมอร์ลึกลับที่ไหนก็ไม่รู้ตีจังหวะเร่งเร้าให้เต้นตาม ก็เช่น การนิยมใช้ของแบรนด์เนม การนิยมใช้โทรศัพท์มือถือแบบเกินความจำเป็นจนติดอันดับโลก หรือการบริโภคเทคโนโลยีต่างๆอย่างไม่เหมาะสม เป็นต้น
นิสัยที่เป็นเหมือน ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ของคนในสังคมทั้ง 2 ประการที่กล่าวมา กำลังจะสำแดงคุณภาพให้ประจักษ์อย่างสำคัญอีกครั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
คือในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งใหญ่อย่างที่คนไทยคนไหนก็รู้กันดีอยู่แล้วในบัดนี้
หลังจากที่ 5 ปีก่อนหน้านั้นสังคมไทยเกิด วิกฤติทางการเมือง อย่างรุนแรง จากการบริหารรัฐกิจล้มเหลวเละเทะของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า นักการเมือง (ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล) ทำให้คนไทยแบ่งเป็นฝักฝ่าย ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนมีแนวโน้มชัดเจนว่าจะฆ่ากันเองในทำนอง สงครามกลางเมือง อยู่รอมร่อ
วันที่กลุ่มทหาร (กองกำลัง จัดตั้ง กลุ่มเดียวที่ติดอาวุธและมีวินัยสูงสุดของสังคมไทย) กลุ่มหนึ่งภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นร่วมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพอื่นๆทุกเหล่าทัพพร้อมใจกันเข้ายึดอำนาจ(รัฐประหาร) จึงสามารถกระทำการได้อย่างนุ่มนวลโดยไม่เสียเลือดเนื้อ ท่ามกลางความโล่งอกของหลายฝ่าย และอาการกระดี้กระด้าเหมือนเป็นผู้ชนะของบางฝ่าย
จึงเกิดฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า คสช. และรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งภายใต้การนำของหัวหน้า คณะรัฐประหารชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือที่ภายหลังใครๆรู้จักในฉายาอันแสนจะน่ารักว่า นายกฯลุงตู่ นั่นไง
ด้วยข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ไม่ว่าจะตั้งใจและมุ่งมั่นปานใด การพยายามแก้และคลี่คลายปัญหาทั้งด้าน เศรษฐกิจ-การเมือง และปัญหาสังคมที่พอกสุมทับซ้อนเป็นภูเขาเลากามายาวนานของรัฐบาล คสช.ก็ดูเหมือนจะเป็นไปอย่างมะงุมมะงาหรา
ครั้นเมื่อเกือบ 5 ปีผ่านไป แน่นอนว่า ไทม์ไลน์ ของการคืนสู่ระบบการปกครองแบบการเลือกตัวเทนราษฎรเข้าไปบริหารประเทศตามหลักการแบบชาติตะวันตกที่เรียกกันว่า ระบบประชาธิปไตย ย่อมต้องเดินทางมาถึง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องเห่าหอนอย่างกึกก้องปานฟ้าจะถล่มของ ฝ่ายการเมือง
เสียงกลองที่กระหน่ำตีกรอกหูราษฎรไทยจากบรรดา โปรแกรมเมอร์ ที่เรียกว่านักการเมืองก็เร่งจังหวะเร้ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
แล้วอาการ ลืม...ลืมหมดแล้วหรือไร แบบเพลง ม่านไทรย้อย ที่เขียนเนื้อเพลงโดยคุณไศล ไกรเลิศ และขับร้อง โดยศิลปินแห่งชาติ เพ็ญศรี พุ่มชูศรีหรือ พี่โจ๊ว ของน้องๆมาตั้งแต่ปี 2495 ก็ค่อยๆคลี่ดังคลุมทาบจิตวิญญาณคนไทยอีกครั้ง
เงื่อนไขภววิสัยที่บรรดานักการเมืองไทยสร้างขึ้น ช่างสามารถกระตุ้นกระทบและผลักดันให้ อัตตวิสัย ที่เป็นเหมือน ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ ในเรื่องจิตใต้สำนึก(Subconcious)ในประเด็น เป็นคนลืมง่าย ของคนไทยได้จั๋งหนับเสียนักแบบเหลือเชื่อ
หรือใครไม่เริ่มรู้สึกวังเวง?!!!