ทีมข่าวคิดลึก แน่นอนว่าการรับมือกับแนวรบในโลกอินเตอร์เน็ต กับฝ่ายต่อต้านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ....สำหรับรัฐบาลในเวลานี้ ย่อมเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหว เพราะแนวรบด้านนี้ไม่ได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองแต่เป็นการที่ฝ่ายต่อต้านเลือกชูประเด็น ว่าด้วย "สิทธิเสรีภาพ" ของประชาชนที่กำลังโดนรัฐบาลคุกคาม ! แต่งานนี้ดูเหมือนว่าทั้งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประเมินสถานการณ์มาก่อนแล้ว ว่าจะต้องโดนถล่มจากกลุ่มต่อต้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะจะมีการนำไปผูกโยงกับเรื่องของ ซิงเกิล เกตเวย์ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่มีความเปราะบาง และง่ายต่อการปลุกกระแสคัดค้านรัฐบาลมาแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้นรัฐบาลและ คสช.จึงเลือกตอบโต้ด้วยการส่ง "ทีมกระบอกเสียง"ทั้งจากรัฐบาล คสช.ไปจนถึงกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศว่าเป้าหมายของการมีร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นั้นเพื่อปราบปรามการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ทางอินเตอร์เน็ต โดยไม่มีเรื่องของซิงเกิล เกตเวย์ เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด การชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ถือเป็นภารกิจที่ต้องเดินหน้าต่อไปควบคู่กับการป้องกันระบบคอมพิวเตอร์ ของหน่วยงานรัฐไม่ให้ถูกโจมตี ปั่นป่วนจน "ล่ม" หรือถูกเจาะเข้าไปล้วงข้อมูลออกมา แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือการใช้ "ยาแรง"เพื่อเอาผิดกับกลุ่มผู้กระทำผิด ที่ประกาศตัวต่อต้านท้าทายรัฐบาลอย่างไม่ลดละ ! การควบคุมตัวกลุ่มพลเมืองต่อต้าน ซิงเกิล เกตเวย์ จำนวน 5 คนเอาไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11)ตั้งแต่เมื่อค่ำวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ติดตามพฤติกรรม กลุ่มดังกล่าวมาสักระยะ และพบว่าเป็นกลุ่มที่เข้าไปทำการโจมตีเว็บไซต์หน่วยงานราชการ คาดว่าจะสามารถขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกเกือบ 100 คน อย่างไรก็ดี การเปิดเกมแรงจากฝ่ายความมั่นคงทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเพื่อ "ปราม" กลุ่มพลเมืองต่อต้านซิงเกิล เกตเวย์ ด้วยการใช้กฎหมาย และควบคุมตัวที่มทบ.11 นั้นอาจจะกลายเป็นดาบสองคม แม้ "บิ๊กเจี๊ยบ" พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิ สาท ผบ.ทบ.จะออกมาปฏิเสธที่จะตอบคำถามในเวลาต่อมาก็ตาม เพราะ คสช.ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายต่อต้านนั้นแตกต่างไปจากกลุ่มการเมืองที่ต่อต้าน คสช. หากแต่เป็นคนรุ่นใหม่เป็นแนวรบใหม่ ที่ไม่สามารถใช้กฎหมาย แก้ปัญหาได้เพียงมิติเดียว การออกมาส่งสัญญาณกระตุกเตือนจาก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปยังรัฐบาลด้วยการเสนอแนะให้รับฟัง"ความเห็นต่าง" โดย เฉพาะเป็นความเห็นต่างที่ห่วงเรื่องของการใช้อำนาจรัฐ ว่าจะเกินขอบเขตหรือไม่ การต่อกรกับ "นักรบไร้ตัวตน"ตามคำนิยามที่กลุ่มพลเมืองต่อต้านซิงเกิ้ล เกตเวย์ ได้ระบุสถานะของตนเองผ่านแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.สำหรับคสช.และรัฐบาล แล้วอาจไม่ใช่ เรื่องง่ายดายนัก เพราะนี่อาจเป็นแนวรบที่ทหารไม่คุ้นเคย จึงยากที่จะทำการตอบโต้ด้วยยุทธวิธีทางการทหารได้ "พวกเราคือผู้ไร้ตัวตน (Anonym ous) ไร้ร่องรอยอย่างแท้จริง ห้ามเปิดเผยตัวตนโดยเด็ดขาดว่า ท่านเป็นนักรบไซเบอร์ ของกลุ่มพลเมืองต่อต้านSingle Gateway นักรบไซเบอร์ ของพวกเราล้วนไร้ตัวตนและไม่มีใครทราบว่า พวกเราคือใคร เหมือนอากาศมองไม่เห็น แต่สัมผัสได้ว่ามีตัวตน"หนึ่งใน ข้อแถลงการณ์ของกลุ่มพลเมืองต่อต้านซิงเกิ้ลเกต เวย์