เสรี พงศ์พิศ/www.phongphit.com
องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลว่า ความรุนแรงทางเพศต่อสตรีในไทยที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ปีหนึ่ง 30,000 ราย โดยเป็นเด็กและเยาวชนอายุ 5-20 ปี ร้อยละ 60 ไม่ร้องทุกข์อีกเท่าไรไม่ทราบ
เวปไซต์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ www.violence.in.th ให้ตัวเลขสถิติละเอียดมากมายและน่าตกใจ
เช่น ความรุนแรงทางเพศที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ ปี 2558 จากการให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่มาขอรับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ความรุนแรงต่อเด็กเป็นความรุนแรงทางเพศมากที่สุด คือร้อยละ 62.55 รองลงมาคือความรุนแรงทางกาย ร้อยละ 22.92
ในขณะที่ความรุนแรงต่อสตรี เป็นความรุนแรงทางกายมากที่สุด คือร้อยละ 67.18 รองลงมาคือทางเพศ ร้อยละ 22.56 ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กส่วนใหญ่เกิดในยครอบครัว สามีภรรยา ลูก คนรัก ญาติ
ที่ปรากฎเป็นข่าว ยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ไม่ว่าอาชญากรรมรายวัน การตีกันของนักเรียนกลางถนน ไปจนถึงกรณีการบุกโรงเรียนทำร้ายครูนักเรียนที่กำลังสอบ ที่บางคนเรียกว่า "2562 อันธพาลครองเมือง"
ในวัฒนธรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ไม่ว่าประเทศไหน ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหากันทั้งนั้น เพราะความรุนแรงอยู่ใน DNA ของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ชาย ถ้าไม่มีวิธีการควบคุมที่ดี ก็จะมีลักษณะเหมือนสัตว์ป่าม้าพยศที่แสดงออกด้วยสัญชาติญาณดิบ
อ้างปัญหาสาเหตุสารพัดอะไรก็ได้ ไม่ว่าแอลกอฮอล์ อารมณ์ทางเพศ ความเครียด ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาต่างๆ นานา แล้วทำไมคนที่มีปัญหาเช่นนั้นจึงไม่สร้างความรุนแรงกันทุกคน ทำไมคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเดียวกันจึงสามารถควบคุมได้ ทั้งป้องกันและแก้ไข
โทษโครงสร้างก็ได้ เพราะสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง สถิติอาชญากรรมและความรุนแรงมากใน 20 อันดับแรกจึงเป็นประเทศยากจน ประเทศกำลังพัฒนา ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในอันดับต้นๆ ของโลก โชคดีที่ไม่มีชื่อประเทศไทยใน 20 อันดับแรก
เขียนเรื่องความรุนแรง เพราะไม่เห็นนโยบายของพรรคไหนที่เกี่ยวโยงไปถึงแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง การละเมิดทางเพศ ดูเหมือนว่าปัญหาของคนไทยมีแต่ปากท้องเท่านั้น จึงเห็นแต่นโยบายลดแลกแจกแถมกันทุกพรรค
วันนี้ขอเสนอให้ทำอะไรเล็กๆ ให้ลูกให้หลานก็แล้วกัน แนะนำไปอ่านหนังสือเล็กๆ 2 เล่ม ต้นส้มแสนรัก กับเจ้าชายน้อย ถึงเคยอ่านแล้วก็อ่านอีกได้ เพราะอ่านทุกครั้งจะได้อะไรใหม่ๆ เสมอ
ต้นส้มแสนรัก เป็นเรื่องของเซเซ่ เด็กน้อยในสลัมเมืองใหญ่ของบราซิล ตัวแทนของเด็กจำนวนมากที่เกิดในครอบครัวยากจน เขาถูกตี ถูกทำโทษเกือบทุกวัน ผิดเล็กผิดน้อยเป็นโดนหมด
เซเซ่มีความฝันเหมือนเด็กทั้งหลาย แต่ถูกทำลายโดยผู้ใหญ่ โดยคนในครอบครัว คนในสังคม เรื่องราวของเขาน่าสะเทือนใจมาก ในสายตาของผู้ใหญ่เ ขาเป็นเด็กดื้อ เด็กซน แต่จริงแล้ว เขามีความใฝ่ฝัน ความปรารถนาชีวิตที่ดีกว่า และพยายามไขว้คว้าทุกวิถีทาง แต่ล้วนเป็นทางที่แคบและตีบตัน จึงได้แต่ฝัน เพราะขาดโอกาส
ฉากสุดท้ายที่บีบน้ำตาผู้อ่านได้ทั่วโลก คือ เซเซ่กลับบ้าน พบว่า ต้นส้มที่อยู่หลังบ้านถูกตัดทิ้งไป เพราะทางการจะขยายถนน ต้นส้มเป็นเพื่อนแสนรักของเซเซ่ เป็น "คนเดียว" ที่เขาพอจะพูดระบายความในใจ ความทุกข์ และความฝันของเขาได้ สังคมได้ทำลายเพื่อนดีที่สุดคนเดียวของเขาไป
ต้นส้มแสนรักมาจากชีวิตของผู้เขียน โฆเซ เดอ วาสคอนเซลอส เอง เขาจึงเขียนได้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อแบบถอดวิญญาณมาเขียน เป็นกระจกเงาที่เราอาจจะเห็นตัวเอง เห็นครอบครัวไทยและสังคมไทยในนั้น
เช่นเดียวกับ" เจ้าชายน้อย" ของอองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี ที่สะท้อนจินตนาการและความฝันของเด็กๆ และของผู้คนจำนวนมาก ที่อยากเห็นชีวิตด้วยสายตาของเด็ก เรียบง่ายและมีความหมาย "แก่นแท้ของชีวิตเราไม่เห็นด้วยตา แต่เห็นด้วยใจ"
เจ้าชายน้อยเดินทางผ่านดวงดาวมาหลายดวง พบคนมากมายหลายประเภท มาถึงโลกด้วยความตื่นเต้นว่าจะได้พบผู้คนเต็มถนนหนทาง แต่ผิดหวัง ได้เห็นคนเพียง 6-7 คนเท่านั้น จึงถามดอกไม้ว่า คนหายไปไหนหมด ดอกไม้ตอบว่า "คนไม่มีรากเหง้า ลมพัดมาแรงๆ หายไปในทะเลทรายหมดเลย"
กระแสงสังคมวันนี้โหดร้ายมาก ล้วนแต่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง สังคมทุนนิยม สังคมบ้าบริโภค ที่สอนว่า "โลภแหละดี" ให้อยากได้มาก อยากมีมาก ชนิด "เป็นหนี้ไม่ว่า ขอให้ได้หน้าเป็นพอ" หรือเป็นหนี้หลายแสนจัดงานบวชลูกไม่ว่า ขอไม่ให้เสียหน้าเป็นพอ อ้างว่า "ทั่วไปเขาทำกันอย่างนี้"
สังคมไทยจึงเต็มไปด้วยประเพณีที่แสดงออกภายนอก อวดร่ำอวดรวย สนุกสนานเฮฮา กินเหล้าเมายาอย่างไม่มีขอบเขต เลยเถิดไปละเมิดสิทธิ ละเมิดร่างกาย ทำร้ายคนอื่นอย่างไรก็ไม่สนใจ เพราะไม่ได้สติ ถูกล้างสมองด้วยค่านิยมผิดๆ ตัวอย่างเลวๆ ของสังคมรอบข้าง
สังคมไทยบ่มเพาะวัฒนธรรมที่มีพันธุกรรมความรุนแรง เป็นวัฒนธรรมที่เอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง เอาเงินเป็นเป้าหมาย แลกกับศักดิ์ศรี สิทธิ เสรีภาพ และศักยภาพของผู้คน ที่ถูกครอบงำให้คิดและทำตามกระแสหลักที่ "อำนาจกับทุน" สร้างและส่งเสริม กำกับและสนับสนุน
ไม่ถึงกับต้องเอาศาสนามาหาเสียงก็ได้ ถ้าเมืองไทยเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องสิทธิ เสรีภาพ มีกฎหมาย ระบบสังคมที่เป็นธรรม มีระบบการศึกษาที่ดี มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมอันดีงาม ไม่ต้องถึงมั่งคั่งยั่งยืนก็ได้ ขอให้ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุข ในสังคมที่น่าจะมีคนดีๆ มากกว่า 6-7 คน