ดร.วิชัย พยัคฆโส/[email protected] การเมืองในช่วงนี้ต่างหาเสียงไปในทิศทางเดียวกัน คือ ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนค้าขายได้ดี มีรายได้สูงขึ้น แต่มิได้เจาะลึกในประเด็นปัญหาใหญ่ถึงปัญหาลดความเหลื่อมล้ำที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องก็ตาม โดยเฉพาะมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 30,000 บาทต่อปี ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนลดลงก็ตาม สาเหตุของความเหลื่อมล้ำเกิดจากหลายประการ เช่น 1. โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังคงเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าของทุนมากกว่าแรงงาน 2. โครงสร้างทางภาษีที่ไม่สนับสนุนการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม 3. โอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินของคนในชนบทยังมีอยู่อย่างจำกัด 4. การกระจายตัวของทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ 5. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังมีความเหลื่อมล้ำ ส่งผลกระทบต่อโอกาสทางเศรษฐกิจและการเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการแก้ไขโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความสมดุลมากขึ้น เป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำ พัฒนาปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการจัดสรรที่ดินทำกิน และการขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการบริการทางการเงินในรูปแบบของกองทุนหมู่บ้านและชุทชนมากขึ้น รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังคงมีปัญหาความยากจนหลงเหลืออยู่ โดย สศช. ได้ประเมินผลของสังคมไทยปี 2561 พบว่าประชากรที่มีรายได้น้อยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชราคิดเป็นสัดส่วน 40% หรือประมาณ 27.1 ล้านคนของจำนวนประชากร 67 ล้านคนนั้นมีรายได้ต่ำกว่า 5,346 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งรัฐบาลพยายามพัฒนาทักษะความชำนาญในการประกอบอาชีพ การจัดสรรเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอย่างทั่วถึง การขยายโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพและการสนับสนุนด้านการตลาดติดต่อกันไป แม้ว่ารัฐบาลได้ใช้มาตรการหลายๆประการเข้าช่วยเหลือ แต่คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้อย่างรวดเร็ว เพราะปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของบ้านเรายังคงปรับแก้ลำบาก คงต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีกว่าจะหลุดพ้นความยากจนลงไปได้ นั่นคือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะต้องดำเนินตามแผนและมาตรการต่อยอดไปอีก ปัญหาเช่นนี้บรรดาพรรคการเมืองคงต้องดูในรายละเอียดในการปรับแก้เสนอแนวทางลดปัญหาความยากจนในระดับจุลภาคมากกว่าที่จะแก้ที่ระดับมหภาคซึ่งเป็นการแก้ที่ส่งผลให้คนมีฐานะดีอยู่แล้วได้รับประโยชน์มากขึ้น จริงอยู่ที่ปัญหานี้เป็นปัญหาเล็กน้อยในหลายๆปัญหาของรัฐบาล แต่ไม่ควรละเลยในการเอาใจใส่ดูแลประชาชนเหล่านั้น เพราะเป็นต้นเหตุของการเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขอยู่ในขณะนี้ ขออย่าให้ปัญหาเดิมๆย้อนกลับมาอีก การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลทำได้ดีอยู่แล้ว เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด พรรคใดเข้ามาบริหารประเทศขอให้ทำต่อเพื่อมิให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนย้อนกลับมาอีก