พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงกำหนดพิกัดภาษีสรรพสามิต มีผลบังคับใช้มาเกือบปีครึ่งแล้ว โดยกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดอัตราภาษีบุหรี่ในระดับที่สูงมาก จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาสูบเป็นวงกว้างทั้งต้นน้ำ ได้แก่ ชาวไร่ยาสูบ 50,000 ครอบครัว ในภาคเหนือและอีสาน กลางน้ำ ได้แก่ การยาสูบแห่งประเทศไทย(ยสท.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลัง และผู้นำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ และปลายน้ำ ได้แก่ ร้านค้าปลีกกว่า 400,000 รายทั่วประเทศ จนต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เลื่อนการขึ้นภาษีบุหรี่อีกเท่าตัวในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ออกไป หากมีการขึ้นภาษีบุหรี่อีกระลอกจริง อุตสาหกรรมยาสูบคงไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ ยสท.ได้ออกมาประกาศแล้วว่า ยอดขายบุหรี่ถูกกฎหมายจะหายไปราวร้อยละ 40 ในขณะที่ยอดขายของ ยสท. เองจะลดลงถึงร้อยละ 55 เท่ากับว่าตั้งแต่อัตราภาษีใหม่มีผลบังคับใช้ ยอดขาย ยสท. จะลดลงถึงร้อยละ 70 ทีเดียว ประกอบกับในปัจจุบันมียอดคงค้างสต๊อกใบยาสูบคงเหลือใช้ถึงปี 2566 คงไม่มีความจำเป็นต้องรับซื้อใบยาจากเกษตรกรยาสูบไปอีกอย่างน้อย 5 ปีทีเดียว ซึ่งก็คงไม่เว้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่ต้องหมดสิ้นอาชีพกันทันที น่าแปลกใจที่ฝั่งผู้กำหนดนโยบายภาษีอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลับยังไม่ได้รับรายงานผลการศึกษาผลดีและผลเสียจากการเลื่อนการขึ้นภาษีบุหรี่เลย เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็เป็นผู้บริหารของกระทรวงการคลังเองที่ออกมาแถลงผลการปราบปรามบุหรี่หนีภาษีที่มีราคาในตลาดเพียง 20 บาท/ซอง ซึ่งต่างจากบุหรี่ถูกกฎหมายที่มีราคา 60 บาท/ซอง จนส่งผลให้ร้านค้าที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายสูญเสียรายได้ให้กับพ่อค้าบุหรี่เถื่อนเป็นกอบเป็นกำ ตามที่เห็นยอดขายบุหรี่ของ ยสท. ในภาคใต้ในช่วงตุลาคม 2561 ถึงกุมภาพันธ์ 2562 นี้ ลดลงถึงร้อยละ 32 นี่ขนาดยังไม่ได้ขึ้นภาษีบุหรี่อีกระลอกที่จะส่งให้ราคาบุหรี่ขั้นต่ำปรับขึ้นไปที่ 93 บาท/ซอง ปัญหาบุหรี่เถื่อนยังรุนแรงถึงเพียงนี้และคงส่งผลจะกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลตามมาทั้งในส่วนของภาษีบุหรี่และเงินนำส่งคลังของ ยสท. รวมปีละหลายหมื่นล้านบาท ดูแล้วไม่เห็นมีใครได้ประโยชน์จากการขึ้นภาษีบุหรี่ที่กำลังจะถึงนี้ ที่บอกว่าจะช่วยลดคนสูบบุหรี่ แต่แท้จริงแล้วรัฐบาลได้เคยมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของมาตรการภาษีหรือไม่ เพราะหากยังมีบุหรี่หนีภาษีราคา 20 บาท/ซอง และยาเส้นมวนเองราคา 10 บาทต่อซอง อยู่ในตลาดต่อไป คงเป็นไปได้ยากที่จะลดจำนวนนักสูบในประเทศไทยลงได้ด้วยการขึ้นภาษีบุหรี่อยู่อย่างเดียว มีแต่จะพาลให้คนทำมาหากินสุจริตในอุตสาหกรรมยาสูบหลายแสนคนได้รับความเดือดร้อน อาชีพการปลูกยาสูบเป็นอาชีพที่มั่นคง และไม่เคยมีปัญหา ชาวไร่ยาสูบไม่เคยขอรับชดเชยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลใด ๆ ยกเว้นในปีนี้ที่ต้องเดินขบวนออกมาเรียกขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพราะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีติด ๆ กัน ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงขอฝากไปยังพรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคอื่น ๆ ให้มีทิศทางการกำหนดนโยบายภาษียาสูบที่ไม่สุดโต่ง และมองดูผลกระทบรอบด้าน ชาวไร่ยาสูบและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบขอเพียงเลื่อนการขึ้นภาษีบุหรี่ร้อยละ 40 ออกไป ให้อุตสาหกรรมยาสูบได้เวลาหายใจกันบ้างเท่านั้นเอง