สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ระบบการศึกษาดีที่สุด แต่สิงคโปร์กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในมุมมองของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist ของ Sea Group โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งว่า “มีความพยายามยกเครื่องการศึกษาครั้งใหญ่ของสิงคโปร์ ที่ผ่านมาพยายามลดความสำคัญของการสอบแล้ว รอบนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือสิงคโปร์จะยกเลิกการแบ่งสาย ในระดับมัธยมศึกษา(เทียบเท่า ม1-ม4)ที่ใช้มาช้านาน จากเดิมเด็กจะถูกแบ่งเป็นสาย 1. ปกติ (เทคนิค) 2. ปกติ (วิชาการ) 3. สายด่วน (Express) ตามความ”เก่ง”ที่วัดจากผลการสอบที่นักเรียนจะทำตอนช่วงอายุ12ปี
ต่อไปนี้จะไม่มีการแบ่งสายอีกต่อไป เพียงแต่ในแต่ละวิชาจะมีสามระดับแทน แล้วแต่ความถนัดและความเร็วในการเรียนรู้ของนักเรียน ยกตัวอย่างเช่นเด็กคนหนึ่งอาจเรียนห้อง advance ในวิชาเลขที่ตัวเองถนัดแต่อาจเรียนห้องธรรมดาในวิชาวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองไม่ค่อยถนัด
เนื่องจากระบบการแบ่งสายแบบเก่าทำให้เกิดการขีดเส้นจัดกลุ่มว่าเด็กไหนเก่งใครไม่เก่ง เกิดชนชั้น สร้างปมความเหลื่อมล้ำ ทั้งยังทำลายศักยภาพของเยาวชนและลดความหลากหลาย (Diversity)ในโรงเรียน โดยที่เด็กแต่ละคนอาจแค่มีความถนัดต่างกันหรืออาจยังไม่พบสิ่งที่ตัวเองชอบ จึงไม่ควรมาวัดแบ่งชั้นด้วยตัววัดแคบๆ
- ระบบใหม่นี้ยังช่วยลดความกดดันของการสอบเข้ามัธยมที่เดิมจะทำให้เด็กประถมเครียดมาก เพราะเป็นการ “ติดป้าย”ว่าเด็ก”เก่ง”หรือไม่ ได้เรียนสายไหน ตั้งแต่เล็ก
- ในขณะเดียวกันที่ยังมีการแบ่งระดับของแต่ละวิชาก็เพราะว่าเด็กอาจเรียนรู้ในความเร็วต่างกันในแต่ละวิชา เช่นหากจับเด็กเรียนเลขระดับ advanceหมดบางคนอาจตามไม่ทัน
- การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ไม่ได้จะทำแบบตูมเดียวจบแต่จะค่อยๆ เริ่มจากทดลองกับ25โรงเรียนในปีหน้า”
ในส่วนของประเทศไทยเรากำลังจะมีพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.มาแล้ว มีสาระที่น่าสนใจคือ การกำหนดวิธีการรับผู้เรียนเข้าศึกษาในสถานศึกษาของรัฐ ในระดับก่อนวัยเรียนและการศึกษาภาคบังคับ คือ ชั้นอนุบาล 1-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ไม่ใช้วิธีการสอบแข่งขัน หรือคัดเลือกด้วยวิธีการอื่นใด หากมีผู้เข้าเรียนมากกว่าที่นั่งเรียนให้ใช้วิธีจับสลาก ตามแนวคิดในรัฐธรรม นูญ พ.ศ.2560
ในส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กับอุดมศึกษา ใช้ผลการเรียน หรือสิ่งที่ได้เรียนมาในช่วงระดับก่อนหน้าในการคัดเลือกเท่านั้น หากมีการออกข้อสอบที่ไม่ใช่เรื่องที่เรียนมาถือว่าจงใจที่จะทำให้ผู้อื่นเสียหาย เพราะผู้ปกครองต้องให้ลูกหลานไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อการสอบ และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
นับเป็นก้าวหนึ่งของการแก้ปัญหาการศึกษาไทย เราคาดหวังว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำไห้คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยดีขึ้น สร้างบุคคลากรให้มีคุณภาพรองรับการพัฒนาประเทศต่อไป