ทวี สุรฤทธิกุล
ในการเมืองไทยทหารกับนักการเมืองคือ “พันธมิตร” ที่มีความแนบแน่นกันมานาน เพียงแต่ “สัมพันธภาพ” ดังกล่าวไม่ค่อยมั่นคงนัก ด้วยเหตุผลเดียวคือ “ความไม่เข้าใจในสถานะของตน” โดยในด้านทหารก็นึกว่าตนเองอยู่เหนือนักการเมือง ในขณะที่นักการเมืองก็คิดว่าตนเองต้องอยู่เหนือกว่าทหาร
ถ้าใครได้อ่านประวัติศาสตร์ในช่วงที่มีการเตรียมแผนการปฏิวัติ 2475 ที่เริ่มต้นขึ้นจาก “การสมคบคิด” ของนักเรียนไทยในฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2469 อันประกอบด้วยทหารและพลเรือนจำนวน 7 คน บุคคลสำคัญในฝ่ายทหารก็คือร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ และในฝ่ายพลเรือนก็คือนายปรีดี พนมยงค์ โดยนับถือกันว่านายปรีดีฯคือ “มันสมอง” หรือ “ผู้วางแผน” ของกลุ่มที่สมคบคิดกันในครั้งนั้น ที่ต่อมาเรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” แต่ว่าการทำรัฐประหารในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สำเร็จลงด้วยกำลังกองทัพที่ร้อยโทแปลกฯได้ “บริหารจัดการ” มา ทำให้ทหารได้รับการยอมรับในระยะแรกว่าเป็น “ผู้นำ” ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้ฝ่ายพลเรือนอยู่ในภาวะ “หวานอมขมกลืน” ต้องยอมรับสถานะของทหารว่า “เหนือกว่า” และยอมที่จะอยู่ภายใต้ “การบริหารจัดการ” ของทหารตลอดมา จนเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม (หรืออดีตร้อยโทแปลกฯ)ได้นำประเทศไทยเพลี่ยงพล้ำไปเข้าด้วยกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง นายปรีดีฯในฐานะหัวหน้าคณะเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นจึงมีบทบาทโดดเด่นขึ้น ในฐานะ “ผู้รักษาเอกราชของชาติไทย” ไว้ได้ กลุ่มการเมืองของนายปรีดีฯจึงได้กลายเป็น “ศูนย์กลางอำนาจ” ขึ้นมาแทนที่กองทัพ จนเมื่อนายปรีดีฯได้สูญเสียความเชื่อถือในเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8ทหารก็เข้ามายึดอำนาจใน พ.ศ. 2490 จากนั้นบทบาทของกองทัพก็ยิ่ง “สูงส่ง” จนดูเหมือนว่าจะไม่มีใครโค่นล้มลงได้ กระทั่งเกิดเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทหารก็ถูกขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนขับไล่พ้นจากอำนาจไป โดยมีการเลือกตั้งตามมา 2 ครั้งในปี 2518และ 2519 แต่ก็ด้วยความ “หลงตนเอง” ของนักการเมืองและพวก “คลั่งประชาธิปไตย” ที่สุดทหารก็ทำรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยที่ทหารดูจะมีทีท่าที่ “ประสานประโยชน์” กับนักการเมืองมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ที่สร้างสภา 2 สภา คือ วุฒิสภาของทหาร กับสภาผู้แทนราษฎรของนักการเมือง ให้มีอำนาจเท่าเทียมกัน ที่เรียกยุคนั้นว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”
ตั้งแต่การเลือกตั้งใน พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ดูเหมือนบรรยากาศในความร่วมมือระหว่างทหารกับนักการเมืองจะดีขึ้น แต่เมื่อนักการเมืองคิดครอบงำหรือ “อยู่เหนือ” กองทัพ ทหารก็ทำการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเสียในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แต่ด้วยความไม่เป็นเอกภาพของทหารในที่สุดก็ต้องให้พลเรือนเข้ามาจัดการแก้ไขความขัดแย้งของทหาร ภายหลังที่มีการจลาจลขึ้นในกรุงเทพฯในเดือนพฤษภาคม 2535 โดยมีกระแสของ “การปฏิรูปการเมือง” ที่ต้องการจะ “จัดการ” ทั้งความฉ้อฉลของนักการเมือง กับความแข็งกร้าวของกองทัพ ที่สุดจึงได้สำเร็จออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เพราะนอกจากจะผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในการร่างจากประชาชนอย่างเข้มข้นแล้ว ก็ยังได้เพิ่ม “อำนาจของประชาชน” ไว้ในรัฐธรรมนูญนี้อย่างมากมาย ทว่าหลังการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2544 อำนาจที่ให้กับประชาชนนั้นกลับถูกนักการเมืองที่ฉ้อฉล นำมาหาประโยชน์และสร้างพลังอำนาจให้กับตนเองและพวกพ้อง จนกระทั่งทหารต้องมาทำรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 แล้วก็ให้มีการเลือกตั้งในปลายปีต่อมา แต่ว่าการเมืองไทยก็ยิ่งมีความขัดแย้งกันมากขึ้น โดยเฉพาะในฟากฝ่ายของนักการเมืองด้วยกัน จนกระทั่งทหารต้องยึดอำนาจอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วทหารก็ปกครองมาจนถึงปัจจุบัน
ปัญหาการไม่รู้จัก “สถานะตนเอง” ที่ทหารก็มีความเชื่อว่าพวกตนมีหน้าที่ปกป้องประเทศชาติและสถาบัน ในขณะที่นักการเมืองก็บอกว่าทหารควรวางตัวเป็นกลางและไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางการเมืองอีก รวมถึงที่นักการเมืองมักจะ “คิดเลยเถิด” ไปว่า เมื่อพวกตนได้อำนาจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว นักการเมืองก็น่าจะมีอำนาจ “มากที่สุด” ได้ทำให้คนทั้งสองพวกนี้ “เข้าใจผิด” ในการบริหารปกครองบ้านเมืองมาโดยตลอด แม้ว่าเมื่อมาถึงวันนี้ก็ดูเหมือนว่านักการเมืองในค่ายที่เคยเหลิงอำนาจ ได้ “กลายเปลี่ยน” มาซบแนบทหาร จนดูเหมือนว่าจะยอมรับว่าทหารนั้นมีอำนาจเหนือกว่า ดังที่ได้เข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกของพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหาร และยินยอมที่จะให้ทหารอยู่ในอำนาจต่อไปตามความต้องการ แต่กระนั้นเมื่อมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ก็คงไม่มีฝ่ายใด “เชื่อใจกันและกัน”
น่าเสียดายที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ได้กลายเป็นเวทีของการต่อสู้ของฝ่ายที่ “เอาทหาร” กับฝ่ายที่ “ไม่เอาทหาร” โดยมีการเรียกกันว่า “ฝ่ายเผด็จการ” กับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” โดยในฝ่ายที่เห็นว่าเผด็จการดีกว่า เพราะทำให้ประเทศชาติสงบและมั่นคง ก็จะเรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่า “ประชาธิปไตยสามานย์” เพราะมีแต่กอบโกยและกระทำทุจริต ส่วนอีกฝ่ายก็เรียกพวกนิยมทหารว่า “เผด็จการอุบาทว์” เพราะชอบทำรัฐประหารและสืบทอดอำนาจ จนทำให้ประชาชนสับสนว่า ฝ่ายไหน “ดีหรือเลว” กว่ากัน รวมถึงระบอบการปกครองของบ้านเมืองด้วยว่า แล้วที่เรากำลังมีการเลือกตั้งนี้ มันจะนำไปสู่ระบอบใดแน่ แต่ที่แน่ๆ คือคนไทยถูกแบ่งออกเป็น “เสี่ยงๆ” แล้วอย่างชัดเจน แม้ว่าอาจจะมี “เสี่ยงที่เป็นกลางๆ” อยู่พอสมควร แต่เมื่อสังคมไทยยังเป็นการต่อสู้กันของ “2 เสี่ยงที่มีความเชื่อรุนแรง” อยู่เช่นนี้ ก็เห็นทีว่าประเทศไทยอาจจะยังใม่เกิดความสงบสุขได้โดยง่าย
หายนะนี้ใครจะรับผิดชอบ “ทหาร” หรือ “นักการเมือง”