ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยฆ่าตัวตาย เกือบ 40,000 ราย โดยตัวเลขการฆ่าตัวตายสำเร็จจะอยู่ที่ประมาณ 340 ราย ต่อเดือน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 4 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10-12 ต่อแสนประชากร ส่วนไทยอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ระดับกลางที่ประมาณ 6.2-6.3 ต่อแสนประชากร
สำหรับปัจจัยของการฆ่าตัวตาย มาจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่อาจมีโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์ โดยโรคทางอารมณ์ทำให้ความเสี่ยงฆ่าตัวตายมากขึ้น 20 เท่าเทียบกับในคนทั่วไป
ส่วนปัจจัยอื่นๆ เช่น การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น โรคทางกายเรื้อรัง การติดการพนัน ปัญหาด้านเศรษฐสถานะ เป็นต้น
ขณะที่การทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หุนหันพลันแล่น ก็พบได้บ่อยเช่นกัน
กรมสุขภาพจิต มีความเป็นห่วงการเสนอข่าวการฆ่าตัวตายผ่านสื่อว่า อาจมีผลกระทบให้เกิดการเลียนแบบวิธีการได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาชีวิตคล้ายกับผู้ก่อเหตุ
นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต แนะว่าการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตาย ไม่ควรสรุปเพียงสาเหตุเดียว เนื่องด้วยปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนในแต่ละคนและมักมีหลายๆ เรื่องประกอบกัน เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเงิน ปัญหาครอบครัว เป็นต้น หากยังนำเสนอเพียงสาเหตุเดียวจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีปัญหาแบบเดียวกันเกิดการเลียนแบบเนื่องจากคิดว่าการจบชีวิตเป็นทางออกของปัญหา
นอกจากนี้ ไม่ควรนำเสนอภาพ และวิธีการฆ่าตัวตายของผู้เสียชีวิตอย่างละเอียดเนื่องจากจะไปกระตุ้นในกลุ่มเปราะบางข้างต้นจนเกิดการเลียนแบบวิธีการดังกล่าวได้ สิ่งที่ควรทำคือแนะนำ แหล่งการให้บริการทั้งระบบบริการสาธารณสุข สายด่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐหรือเอกชน เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323
ปัจจุบัน เราเห็นวิวัฒนาการการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชน โดยภาพรวมเฉพาะในสื่อหลัก มีการปรับเปลี่ยนการนำเสนอข่าว และระมัดระวังเรื่องการนำเสนอภาพข่าวมากขึ้น มีการเซ็นเซอร์ภาพที่น่าหวาดเสียวต่างๆ แม้จะยังมีบางส่วนที่ให้รายละเอียดวิธีการฆ่าตัวตาย และนำเสนอในเชิงของละครอยู่บ้าง แต่มีความพยายามที่จะให้ความรู้ประกอบ เช่น ความเข้าใจในโรคทางจิตเวชต่างๆ ที่มีสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับการฆ่าตัวตาย
แต่ที่น่าเป็นห่วง คือการนำเสนอภาพข่าวในโลกโซเชียล ของสำนักข่าวที่ไม่ได้มีกองบรรณาธิการคอยกำกับและตรวจสอบข่าวและภาพ รวมทั้งเพจส่วนบุคคล หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีการส่งต่อภาพน่าสยดสยอง และบางส่วนยังนำไปบิดเบือนข้อมูล เพื่อเรียกยอด คลิกเบตด้วย
ดังนั้น นอกจากการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในสังคม ด้วยการเอาใจเขา มาใส่ใจเรา มีหลักคิดว่าหากคนเหล่านั้นเป็นญาติสนิทมิตรสหายของเรา และการนำเสนอข้อมูลให้ความรู้เพิ่มเติม การนำเสนอบทความที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ และแหล่งในการให้คำปรึกษา จะช่วยในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในสังคมมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังต้องเฝ้าระวังไปยังสื่อต่างๆในโลกออนไลน์ด้วย การขอความร่วมมือประชาชนที่พบเห็นภาพและเนื้อหาข่าวที่ไม่เหมาะสมแจ้งรายงานเตือนต่อเฟซบุ๊ก หรือช่องทางอื่นๆ จะเป็นการช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทย หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นปัจจัยไปกระตุ้นให้เพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่ง