ชัชวาลล์ คงอุดม
เรียน กองบรรณาธิการนสพ.สยามรัฐ
คอลัมน์ คุณชัช เตาปูน ตอบจดหมายที่นับถือ
หลายวันก่อนได้อ่านข่าวเจอคุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย เพื่อคุ้มครองและป้องกันการฉ้อฉล จากการหลอกลวงทำประกันชีวิต ประกันวินาศภัย หรือชาวบ้านจ่ายเบี้ยประกันไปแล้ว แต่ตัวแทนไม่ได้ส่งเงินชำระให้กับบริษัทประกันภัย อันเป็นการเข้าข่ายหลอกลวง รวมทั้งสร้างเอกสารหลักฐานเท็จเพื่อเบิกสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันในการเรียกรับผลประโยชน์ เช่น ไม่ได้ป่วย แต่นำหลักฐานยา การรักษามาเบิกเงินประกัน และการแก้ไขเกี่ยวกับการทำหลักฐานจากตัวแทนนายหน้า เพื่อรับสินไหม แล้วนำเงินมาแบ่งกับผู้เอาประกัน โดยความผิดดังกล่าวในระบบประกันที่ผ่านมาถือว่าการยอมความ เมื่อชดเชยเงินคืนให้ถือว่าคดีสิ้นสุดลง แต่กฎหมายใหม่ที่แก้ไขนี้ได้แก้ไขให้เจ้าพนักงาน คปภ.เป็นเจ้าทุกข์แจ้งความดำเนินคดี แม้จะมีการยอมความ เพื่อไม่ให้เอาเป็นแบบอย่างหรือมีคดีเกิดขึ้น
ตรงนี้กระผมเห็นด้วยจริงๆกับการที่ ครม.อนุมัติเห็นชอบด้วยทุกประการ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่เกิดความเข็ดหลาบ พวกมิจฉาชีพที่ทำมาหากินในรูปแบบของนายหน้าหรือตัวแทนก็จะได้ใจ พอเป็นเรื่องเป็นราวมีการแจ้งความดำเนินคดีกัน ก็มีการเอาเงินไปจ่าย และยอมความกับผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายก็ไม่ติดใจจะค้าความด้วย เพราะเห็นไม่ใช่เรื่อง กลัวเสียเวลาต้องขึ้นโรงขึ้นศาลบ้าง จนในที่สุดพวกมิจฉาชีพหลอกลวงกับการขายประกันก็ลอยนวลต่อไปได้
แต่ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมากก็คือ ปัญหาการเอาผิดกับผู้เอาประกันหรือลูกค้าประชาชนในกรณีที่เกิดการฉ้อฉล บางเรื่องบางราวถ้าไม่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ ก็อยากจะให้มีการแก้ไขกฎหมายเอาผิดแบบลหุโทษไม่ควรจะไประบุโทษหนักจนเกินไป เว้นเสียแต่พวกตัดนิ้วเอาประกันภัย หรือเผาเอาประกันทรัพย์สินบ้านหรือโรงงานของตัวเอง การไปสมรู้ร่วมคิดกับตัวแทนนายหน้า แล้วมาฉ้อฉลเอาเงินผลประโยชน์ของบริษัทในรูปแบบต่างๆ ถ้าเช่นนี้ก็ควรจะมีกำหนดโทษให้หนักไปเลย
หรือแม้แต่หมอโรงพยาบาลเองบางครั้งไม่ได้ตั้งใจจะทำผิด บางครั้งมีความหวังดีต่อคนไข้ เข้าทำนองคนไทยด้วยกัน มีอะไรผิดนิดอะไรหน่อยก็ช่วยเหลือกัน อย่างงี้เป็นต้น ควรจะมีการเขียนระบุโทษเป็นลายลักษณ์อักษรชี้ชัดความผิดเป็นกรณีๆ ไป หรือพูดง่ายๆ ว่าต้องมีการแยกแยะเป็นกรณีๆ ของความผิด รวมถึงบทลงโทษที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่เหมารวมเอาเป็นความผิดหรือโทษหนักลูกเดียว เพราะขึ้นชื่อว่าหมอส่วนมากจะยึดถือจรรยาบรรณ และการรักษาคนไข้มาก่อนกันทั้งนั้น คงไม่มีใครคิดเชิงพาณิชย์เป็นลำดับแรกแน่ๆ นานๆ ครั้งอาจจะมีการจ่ายยาหรือรักษาเกินวงเงินที่บริษัทประกันกำหนดหรือวางไว้ ก็ไม่ใช่ว่า หมอจะตั้งใจทุจริตเพื่อผลประโยชน์ตัวเองหรือโรงพยาบาลไปเสียทั้งหมด หากหมอบางรายมีจิตกุศลคิดจะช่วยคนไข้ก็มี อะไรที่เห็นว่า ก็วินิจฉัยให้เป็นคุณ หรือช่วยได้อย่างเช่นเบิกค่ารักษาหรือยาในตัว
อื่นที่ยังไม่เต็มวงเงินบ้าง เป็นต้น
ดังนั้นการระบุโทษหรือความผิดว่าเป็นการฉ้อฉลเสียทีเดียว ก็คงไม่ได้ หากจำเป็นต้องแยกย่อยออกมาใหัชัดเจน ไม่ใช่หมายความว่า ทุกคนฉ้อฉลหรือทุจริตไปหมด ซึ่งบางครั้งหมอก็ไม่ได้ผลประโยชน์หรือส่วนแบ่งจากการรักษาคนไข้เลย ดังนั้นกฎหมายที่จะนำออกมาใช้ควบคุมดูแลเรื่องฉ้อฉล ก็ควรจะมีความชัดเจน เอาผิดกับผู้ที่มีเจตนาจะฉ้อฉลให้ตรงตามเจตนารมณ์
ส่วนเรื่องที่ท่านนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำชับในที่ประชุม ครม.และมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการควบคุมดูแลการขายประกันควบคู่กับการขอสินเชื่อ หรือการขายประกันผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารก็ดี รวมทั้งการโทรศัพท์ขายประกันทั้งรอบเช้า บ่าย เย็น จนสร้างความรำคาญกับประชาชนทั่วไป
ตรงนี้เห็นด้วยอย่างยิ่ง ไม่ควรจะปล่อยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย สถาบันการเงินไหนเอาเป็นเงื่อนไขบังคับให้ลูกค้าต้องซื้อประกันชีวิต โดยอ้างว่าเป็นหลักประกันให้กับทางแบงก์บ้าง เวลาผู้กู้เสียชีวิต หรืออาศัยเป็นเงื่อนไขอนุมัติเงินกู้หรือขอสินเชื่อจะได้ดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราพิเศษที่ถูกกว่าบุคคลทั่วไปบ้าง ลักษณะเช่นนี้ไม่ควรจะปล่อยให้มีมานมนานแล้ว ไม่รู้ว่าผู้ว่าแบงก์ชาติที่ผ่านมาปล่อยปละละเลยได้อย่างไรจนชาวบ้านเดือดร้อน
อยากให้แก้ไขกฎหมายเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องของความผิดทางคดีอาญากับพนักงานที่พูดหรือให้บริการสินเชื่อในลักษณะเช่นนี้ไปเสียด้วยเลย
รวมไปถึงพวกที่โทรศัพท์มาขายประกัน ก็ควรจะมีโทษทางคดีอาญาไปด้วย หากเวลามานำเสนอขายผ่านทางโทรศัพท์ แล้วตอบไม่ได้ว่า ไปนำเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้ามาจากไหน ควรจะมีการระบุคำถามในการสนทนาในการขายประกันหรือขายบัตรเครดิต หรือสินค้าอะไรต่างๆ ที่ใช้การโทรมาขาย จำเป็นต้องมีบทสนทนาและแสดงตน และอ้างแหล่งที่มาของการได้มาซึ่งเบอร์โทรศัพท์แจ้งให้ลูกค้ารับทราบด้วย มิใช่ทุกวันนี้ไปเอาเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้าจากแหล่งใดที่ลูกค้าไปติดต่อเอาไว้ แล้วโทรสุ่มมาขายประกันหรือขายบัตรเครดิตกัน
คงจะขอฝากไปถึงรัฐบาลและท่านนายกฯประยุทธ์ได้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม
ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
หัวอกประชาชนคนไทยคนหนึ่ง
เรียน คุณผู้ใช้นามปากกา
"หัวอกประชาชนคนไทยคนหนึ่ง"
ขออนุญาตตอบจดหมายคุณนะครับเวลานี้ก็เห็นทางท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)คนปัจจุบันจับมือกันเอาจริงเอาจังกับการดูแลแก้ไขปัญหา เหล่านี้อย่างเข้มข้นทีเดียวครับ ซึ่งคงจะผิดแผกแตกต่างไปจากหลายปีที่ผ่าน มาไม่ได้เข้มงวดกวดขันกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมและจริง จัง จึงทำให้เกิดปัญหาทำให้พี่น้องประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเดือดร้อนไปตามๆ กัน
สำหรับข้อเสนอแนะของคุณที่เขียนมานั้น ไม่รู้ว่าจะทำได้กันหรือเปล่านะครับ ผมเองคงไม่ขอออกความเห็นนะครับ เพียงแต่นำจดหมายของคุณมาลงให้ท่านนายกฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นผู้พิจารณาเองดีกว่าครับ
ด้วยรักและนับถือ
เจริญชัย อุดมพาณิชวงศ์
"เวลานี้ก็เห็นทางท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)คนปัจจุบันจับมือกันเอาจริงเอาจังกับการดูแลแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างเข้มข้นทีเดียวครับซึ่งคงจะผิดแผกแตกต่างไปจากหลายปีที่ผ่านมาไม่ได้เข้มงวดกวดขันกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังจึงทำให้เกิดปัญหาทำให้พี่น้องประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเดือดร้อนไปตามๆ กัน"