ทีมข่าวคิดลึก
การเมืองที่ทำท่าจะร้อนระอุเพราะพิษจาก "ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง" แต่แล้ว วิวาทะระหว่าง "ผู้ร่าง"กับ "ผู้เล่น" ก็ยังไม่ได้ทำให้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รู้สึกวิตกกังวลมากเท่ากับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกับแนวรบด้านอื่น ทั้งในทางสงฆ์ และโลกแห่งไซเบอร์
โดยเฉพาะปัญหาและความวุ่นวายที่ว่าด้วยการต่อต้าน "พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์" ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปอย่างฉลุย ด้วยคะแนน 168 เสียงอย่างเป็นเอกฉันท์
แต่กลับดูเหมือนว่า สิ่งที่รัฐบาลตลอดจน "ฝ่ายความมั่นคง" ต้องพลิกมุมหันกลับมา "รับมือ" ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงวนเวียนอยู่กับการโจมตีเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ จากผู้ที่ประกาศตัวคัดค้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตั้งแต่แรก
การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีหลายคน หลายกระทรวง ที่ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัล ไอที งานด้านความมั่นคง ไปจนถึงกระทรวงการต่างประเทศ ต่างต้องพากันตอบคำถามผู้สื่อข่าวในประ เด็นที่ว่าด้วยเสียงคัดค้าน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่กำลังถูกเชื่อมโยงกับ "ซิงเกิลเกตเวย์" ซึ่งทำให้สังคมเกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย ทั้งข้อมูลจริงและลวง
จนเกิดเป็นกระแสปลุกเร้าให้เกิดกลุ่มคนออกมาแสดงการต่อต้านทั้งซึ่งหน้าและในเชิงสัญลักษณ์ รวมทั้งการโจมตีเว็บไซต์ หน่วยงานราชการสำคัญ ด้วยกันถึง 4 เว็บภายในวันเดียวกัน !
โดยก่อนหน้านี้ได้มีการป่วนเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการอื่นๆ จนล่มไม่สามารถเข้าไปใช้งานกันมาแล้ว อีกทั้งมีการข่มขู่ว่าจะมีการนัดหมายร่วมกัน ป่วนเว็บไซต์ จนถึงขั้นทำให้ส่งผลกระทบต่อบัญชีเงินเดือนในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค.นี้
และไม่ว่าจะจริงหรือไม่ จะลงมือทำได้ ตามที่ข่มขู่หรือไม่ก็ตาม แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความหวั่นไหวและความสับสนที่กระจายไปทั่วในสังคม พร้อมกันนี้ยังเกิดปัญหาตามมาว่าที่สุดแล้ว รัฐบาลจะสามารถ "รับมือ"กับการเปิดเกมถล่มผ่านโลกไซเบอร์จากฝ่ายต่อต้านได้มากน้อยแค่ไหนเพราะต้องไม่ลืมว่า หากเกิดขึ้นจริงความเสียหายจะตามมามากมาย
เวลานี้สิ่งที่รัฐบาล ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเร่งดำเนินการคือการให้ข้อมูล ให้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้คนในสังคม ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ แต่อย่างใด
ไม่เช่นนั้นแล้วยิ่งปล่อยให้ "ข้อมูลอันเป็นเท็จ" ลุกลามบานปลายออกไปเท่าใด ยิ่งจะทำให้รัฐบาล และ คสช.ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น !
ล่าสุดการให้ "ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล" อย่างกฤษฎีกา เข้ามาช่วยชี้แจง ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศเอง ต้องออกมาชี้แจงตามที่องค์การต่างประเทศ บางแห่งแสดงความกังวล ต่อกรณีหลังจากที่ สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์ โดย "เสข วรรณเมธี"อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่ารัฐบาลไทยเคารพในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ย้ำว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีลิดรอนสิทธิใดๆ หรือเพื่อการควบคุมหรือดักจับข้อมูลของประชาชน แต่ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นข้อมูลและการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยจะเป็นเครื่องมือปกป้องประชาชนจากภัยความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ
ปฏิบัติการรับมือกับปัญหาใหม่ที่มีความแตกต่างไปจากความขัดแย้งทางการเมืองนั้นแน่นอนว่าอาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายสำหรับรัฐบาล แต่ถึงกระนั้นนี่คือบททดสอบฝีมือของ คสช.ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น !