สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่เด็กนักเรียนมัธยมหลายพันคนในเมืองฮัมบวร์ค เยอรมนี หยุดเรียนมาร่วมเดินขบวนประท้วงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การหยุดเรียนเพื่อประท้วงภาวะโลกร้อนที่เยอรมนี ดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก โดยเมื่อเดือนที่แล้วก็มีรายงานว่า เด็กนักเรียนในอังกฤษกว่า 15,000 ต่างพร้อมใจกันหยุดเรียนประท่วงเพื่อแสดงพลังเรียกร้อให้ทางการจริงจังในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ส่วนผู้บุกเบิกคือ เกรียตา ทุนแบร์ย เด็กหญิงวัย 16 ปีชาวสวีเดน ที่เคยหยุดเรียนไปนั่งประท้วงเงียบที่หน้ารัฐสภาในกรุงสต็อกโฮล์ม เพื่อเรียกร้องให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจปัญหาโลกร้อนมาแล้วเมื่อตอนอายุ 15 ปี จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การหยุดเรียนประท้วงของเด็กๆในเยอรมนี ได้รับความเห็นในมุมบวกจาก อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โดยเธอบอกว่ารู้สึกยินดีมากที่เยาวชนออกมาชุมนุมเพื่อบอกให้ผู้ใหญ่รีบแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะเด็กๆอาจรู้สึกอึดอัดใจที่ผู้ใหญ่ในประเทศใช้เวลานานเกินไปในการยกเลิกการใช้พลังงานจากถ่านหิน ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับขอให้เด็กๆเข้าใจการแก้ปัญหานี้ที่ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องทำก่อนยกเลิกการใช้ถ่านหินอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเยอรมนีมีแผนจะบรรลุเป้าหมายนี้ในปี 2038 ก็คือในอีก 19 ปีข้างหน้า น่าสนใจว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว เรียกร้องให้ผู้ใหญ่หันมามองปัญหาและแก้ไขอย่างจริงจังได้มากน้อยแค่ไหน และคงไม่ใช่เฉพาะในเยอรมนี ปัญหานี้เป็นปัญหาไปทั่วโลก รัฐบาลไทยที่ต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องรอให้เด็กๆออกมาหยุดเรียนประท้วง เพื่อเรียกร้องให้เห็นความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อมีตัวอย่างในประเทศอื่นๆแล้ว ผู้ใหญ่เองก็ควรจะเล็งเห็นปัญหา และเร่งหามาตรการในการป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว อยากเห็นประเทศไทยเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยความตระหนักของคนในชาติ เพราะในหลายเรื่องพิสูจน์แล้วว่า หากคนไทยร่วมแรงร่วมใจกัน สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็เป็นไปได้